พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

17 มี.ค. 2566 | 16:34 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2566 | 16:40 น.

“พาณิชย์”ถกผู้ส่งออกจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย  ด้านคต.ชี้กระทบส่งออกระยะสั้น ชี้คนจีนฉลาด สั่งทูตพาณิชย์ออกสำรวจตลาดเข้มงวดขึ้น  ปีไทยส่งออกหอมมะลิไปจีนกว่า4.3แสนตัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีโรงงานผู้ผลิตข้าวในประเทศจีนทำการปลอมข้าวหอมมะลิไทย โดยใช้สารแต่งกลิ่นให้หอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทย เพื่อให้ขายได้ในราคาสูง  โดยล่าสุดกรมฯ ได้ประสานงานไปยังทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในจีน ทั้ง 7 แห่ง ให้เพิ่มความเข้มข้นในการลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยในห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้า และตรวจสอบดูว่าข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่าย เป็นข้าวหอมมะลิไทยถูกต้องหรือไม่ มีการแอบอ้างชื่อไทยหรือไม่ มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ และหากพบข้าวที่น่าสงสัย ก็ให้ประสานทางการของจีนเพื่อดำเนินการตรวจสอบทันที

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
 โดยจากการตรวจสอบพบว่ากรณีที่เกิดขึ้น ยังไม่พบว่ามีการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิของไทย เพราะโรงงานของจีนที่ทำข้าวหอมมะลิไทยแต่งกลิ่น ใช้เครื่องหมายการค้าของเขา จดชื่อเอง แต่เป็นชื่อไทย ซึ่งผิดกฎหมายในจีนแน่นอน ผิดหลายกฎหมายมาก ทั้งเรื่องฟู้ด เซฟตี้ ความปลอดภัยด้านอาหาร สิทธิผู้บริโภค การโฆษณา คุณภาพความปลอดภัยของสินค้า และคดีอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจีนจะดำเนินการต่อไป แต่ตอนนี้ โรงงานทั้ง 3 แห่ง ที่ทำข้าวหอมมะลิไทยแต่งกลิ่น ถูกสั่งให้ปิดโรงงานไปแล้ว

พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

ประกอบด้วย1. บริษัท Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry ใช้ชื่อแบรนด์ ราชาไทย (Tai Zhi Wang) และข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2 โดยเป็นชื่อที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และใช้ข้าวท้องถิ่น มาแต่งกลิ่น ขายในพื้นที่มณฑลอานฮุยเป็นหลัก มียอดขายปีละ 1 หมื่นตัน 2.บริษัท Anhui Xiangwang Cereals , Oils and Food Technology Co., Ltd. ระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า ข้าวหอมมะลิประเทศไทย ระบุแหล่งผลิตจากประเทศไทย โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจแปรรูปข้าวหมดอายุตั้งแต่ปี 2017 และ 3.บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co., Ltd. จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเซียง เป็นข้าวที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเอย์หลงเจียง ใช้ชื่อแบรนด์ Tai Guo Xiang Mi , Tai Xiang Mi หรือข้าวหอมมะลิไทย ใช้สารเติมแต่งกลิ่นเช่นเดียวกัน

พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

 “ การจับกุมโรงงานแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว เป็นการเปิดโปงกรณีลักลอบฝ่าฝืนกฎระเบียบมาตรฐานผู้บริโภค ที่ดำเนินการโดยทางการจีนเป็นประจำในช่วงวันที่ 15 มี.ค. ของทุกปี โดยปีนี้เป็นการเปิดโปงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นในข้าวเพื่อสวมรอยแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งตรวจพบจำนวน 3 แห่ง และทั้งหมด ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิไทย และไม่เคยมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยแต่อย่างใด”        

พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

อย่างไรก็ตามมาตรการแก้ไขปัญหากรมฯเตรียมหารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ในฐานะผู้เสียหายเพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับโรงงานข้าวในจีนทั้ง3แห่งหรือไม่ โดยต้องประเมิณร่วมกันว่าจะสามารถฟ้องร้องที่ศาลใดของจีนได้บ้าง และหากฟ้องร้องต้นทุนการดำเนินการจะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบ หากฟ้องร้องแล้วไม่คุ้มก็อาจจะไม่ฟ้องร้อง

“ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนในระยะสั้น ผู้บริโภคอาจจะระมัดระวังในการซื้อข้าวมากขึ้นหลังจากมีข่าว แต่คาดว่าจะปรับตัวได้เพราะผู้บริโภคจีนฉลาดและเป็นแฟนพันธุ์แท้ข้าวหอมมะลิไทยต้องกลับมาซื้ออีกแน่นอน  ซึ่งจากการหารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าว ยืนยันว่า  อาจได้รับความเสียหายระยะสั้นช่วง 1-2 เดือน เท่านั้น”

พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดจีนเป็นปริมาณดังนี้    ปี 2563 จำนวน  144,164 ตัน  มูลค่า4,131 ล้านบาท  ปี 2564 จำนวน 147,581 มูลค่า 3,460 ล้านบาท และปี 2565  จำนวน 142,146ตัน    มูลค่า 3,996 ล้านบาท

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยถึงผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กรณีโรงงานข้าวในประเทศจีนทำการปลอมข้าวหอมมะลิไทย โดยใช้ชื่อแบรนด์เป็นภาษาไทย และใช้สารย้อมกลิ่นให้หอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทย เพื่อให้ขายได้ในราคาสูง ว่าปัญหาดังกล่าวสรางความเสียหายให้กับตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีนแน่นอน แต่คาดว่าจะเป็นปัญหาระยะสั้น เพราะเกิดจากการตื่นตระหนกของตลาดและผู้บริโภค อาจทำให้หยุดซื้อข้าวหอมมะลิไทย เพราะไม่มั่นใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิจริง หรือปลอม คาดว่าในช่วง 1-2 เดือนปัญหาจะคลี่คลายได้ ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อข้าวหอมมะลิไทยอีกครั้ง เนื่องจากผู้บริโภคจีนมีความเชื่อมั่นเในคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยอยู่แล้ว โดยในแต่ละปีไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดจีน ประมาณ 1 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท

พาณิชย์เต้นถกผู้ส่งออกหาทางจ่อฟ้อง3โรงงานจีนปลอมหอมมะลิไทย

"กระทรวงพาณิชย์ของไทย ควรเร่งเข้าไปแก้ปัญหา ด้วยการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคในตลาดจีนว่า ข้าวหอมมะลิไทยแท้มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อให้เลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ เพราะการที่ไทยจะเข้าไปปราบของปลอมในจีนเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเจ้าแห่งการเลียนแบบสินค้ามาแล้วหลายตัว และยังมีตลาดขนาดใหญ่ที่เราควบคุมไม่ได้ ส่วนการจะฟ้องร้องคนทำผิดก็ทำได้ลำบาก ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการ "