เจาะกลยุทธ์ "ไทยเบฟ" ปักธง เบอร์1อาเซียน ควัก 4.5 พันล้านถอนโออิชิพ้นตลาด

16 มี.ค. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 09:41 น.
3.9 k

“ไทยเบฟ” เดินเกมนำทัพ “อาหาร-เครื่องดื่ม” พิชิตเบอร์ 1 อาเซียน ควัก 4,500 ล้านซื้อหุ้น “โออิชิ กรุ๊ป” เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ หลังรีเทิร์นกลับมาทำกำไรพุ่ง 120% จับตาปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจนอน-แอลกอฮอล์ครั้งใหญ่

การประกาศเพิกถอนบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกจากจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% ในราคา 59 บาทต่อหุ้น โดยไทยเบฟ ให้เหตุผลถึงการเข้าซื้อในครั้งนี้ว่า 1. เพราะปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายหุ้นของโออิชิมีไม่มาก ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย

2. กลุ่มไทยเบฟมีแผนปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การออกจากตลาดหลักทรัพย์จะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการกิจการและปรับโครงสร้าง และ 3. จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเป็นบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวสอดรับกับ การประกาศนำทัพธุรกิจ “อาหารและเครื่องดื่ม” (Food & Beverage) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ ผงาดขึ้นเบอร์ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพไว้อย่างชัดเจน

ในงานแถลงข่าวขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย PASSION 2025 ที่มีขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2565 หลังจากที่ “ไทยเบฟ” ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยวาง 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ สุราหรือเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็น 3 เรือธงในการเดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างรายได้ให้องค์กร

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ไทยเบฟ

ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเบฟเดินหน้ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการขยายตลาดเต็มรูปแบบหากเปรียบเทียบกับธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร ขณะที่ดีมานด์ในตลาดอาเซียนในหลายประเทศ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใสและมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าวในวันนั้นว่า ไทยเบฟใช้ช่วงเวลาที่ธุรกิจเผชิญกับความท้าทายของโควิด-19 ในการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กร โดยเน้นการดำเนินงานที่รวดเร็ว บริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ขณะที่การลงทุนในกลุ่มนอน-แอลกอฮอล์นับจากนี้จะสูงขึ้น

โดยมุ่งเน้นในเรื่องของ Health & Wellness เพราะมองว่าสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีโอกาสและศักยภาพสูง ขณะที่ไทยเบฟเลือกลงเล่นในตลาดนอน-แอลกอฮอล์ เพราะมีมาร์จิ้นตํ่ากว่า และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะช่วยให้ไทยเบฟแข็งแกร่งขึ้น

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

โออิชิ กำไรพุ่ง 120%

การจะรุกขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หัวหอกสำคัญคือ “โออิชิ กรุ๊ป” ซึ่งผลประกอบการของโออิชิ กรุ๊ปในปีที่ผ่านมา (1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565) โออิชิ กรุ๊ป มีรายได้รวม 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,878 ล้านบาท มีการเติบโต 29.3% มีกำไรสุทธิ 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 654 ล้านบาท เติบโต 120% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,042 ล้านบาท เติบโต 16.7% กำไรสุทธิ 1,124 ล้านบาท เติบโต 24.6% ส่วนธุรกิจอาหารมีรายได้ 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,836 ล้านบาท เติบโต 51.5% กำไร 75 ล้านบาท เติบโต 121%

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

แม้ในช่วงเผชิญวิกฤตโควิด-19 มาตรการคุมเข้มและล็อกดาวน์ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจร้านอาหารแต่การปรับตัวของ “โออิชิ กรุ๊ป” ทำให้ยังคงเดินหน้าธุรกิจและรักษาการเติบโตไว้ได้ ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแรง การเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการบริหารจัดการ บุคลากร ทำให้ธุรกิจกลับมาเติบโตได้ทันที หลังจากวิกฤตต่างๆคลี่คลาย และไทยเปิดประเทศ

ปี 66 กลับมาลงทุนครั้งใหญ่

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI กล่าวถึงแผนงานในปีนี้ว่า จะเป็นปีที่โออิชิ กรุ๊ป กลับมาลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งแผนงานของโออิชิ คือการรุกลงทุนในทุกรูปแบบทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม ร้านอาหารและอาหารพร้อมทาน โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ ผู้ที่รักสุขภาพ รวมถึงการขยายตลาดส่งออกชาเขียวพร้อมดื่ม ทั้งในตลาดเดิมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และการขยยายตลาดใหม่ๆในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฯลฯ

ส่วนแผนการรุกธุรกิจอาหาร จะเน้นการจัดพอร์ตธุรกิจ เพื่อความหลากหลายให้เป็นมากกว่าบุฟเฟ่ต์ ด้วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบมัลติ ฟอร์แมท รวมทั้งการรุกขยายร้านอาหารในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเริ่มจากการนำแบรนด์ “โออิชิ บิซโทโระ” ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน สไตล์ QSR ที่เน้นเปิดให้บริการตามสถานีบริการนํ้ามัน เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ เป็นต้น

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

นอกจากนี้ยังมีแผนซินเนอร์ยีกับ บริษัทในเครือ เพื่อนำเทคโนโลยี มาต่อยอดสร้างนวัตกรรม เช่น การติดตั้งจุดชาร์จรถอีวี ในร้านเคเอฟซี , การนำเบียร์ช้าง มาจำหน่ายในร้านเคเอฟซี , การเปิดตัว KFC Cafe by So COFFEE เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่าง ยังช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย

ควัก 4,500 ล้านซื้อคืนOISHI

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุ ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น OISHI ณ วันที่ 13 ธ.ค. 2565 มีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 2,457 ราย จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) 1,846 ราย คิดเป็น 20.34% ซึ่งกรณีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอซื้อหุ้น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI จากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.34 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 59.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวม 4,500.496 ล้านบาท

จับตากลุ่มนอน-แอลกอฮอล์

ตลอดระยะเวลา 40 ปี นับจากปี 2510 ที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าสู่วงการธุรกิจสุรา ทั้งการซื้อกิจการบริษัท แสงโสม จำกัด รับสัมปทานโรงงานสุรา 12 แห่ง ควบรวมธุรกิจสุรากับกลุ่มสุรา มหาราษฎร์ ผู้ผลิตสุราตราแม่โขง ก่อนเปิดตัว“เบียร์ช้าง”ในปี 2541 และจัดตั้ง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ในปี 2549

แต่อาณาจักรไทยเบฟที่มีความแข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มสั่นคลอน เมื่อถูกต่อต้านอย่างหนักต่อการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยเหตุว่าเป็นผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องย้ายไปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ “ไทยเบฟ” เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาสร้างภาพลักษณ์และสร้างสมดุลให้กับองค์กร จึงเริ่มต้นด้วยการเข้าซื้อกิจการ “โออิชิ กรุ๊ป” ในปี 2552 ต่อจากนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และครอบครัว ซึ่งเข้าซื้อหุ้น โออิชิ กรุ๊ป จากนายตัน ภาสกรนที มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ในนามบริษัท นครชื่น จำกัด ตั้งแต่ปี 2549

หลังจากนั้น ไทยเบฟก็เดินหน้าซื้อกิจการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง ทั้ง บริษัท เสริมสุข จำกัด ในปี 2555 และในปีเดียวกันก็เข้าซื้อหุ้น F&N (เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ) นอกจากนี้ยังขยายพอร์ตไปยังกลุ่มธุรกิจอาหาร ด้วยการเข้าซื้อแฟรนไชส์ “KFC” จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในปี 2560 ด้วย

อย่างไรก็ดีภาพการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟ หลังการเข้าถือหุ้น 100% ในโออิชิ กรุ๊ป ยังต้องจับตาต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะนอกจากโออิชิกรุ๊ปแล้วไทยเบฟยังมีบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) ผู้ได้รับสิทธิ์การบริหารร้านเคเอฟซีในไทย, Food of Asia ดูแลธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารพรีเมี่ยม อาทิ บ้านสุริยาศัย, หม่าน ฟู่ หยวน ฯลฯ รวมถึง F&N ด้วย