“มนัญญา” จับมือ 3 ประสาน ปิดต้นทางตัดทุเรียนอ่อนส่งออก

11 มี.ค. 2566 | 19:30 น.

“มนัญญา” จับมือ 3 ประสานหนุนทุเรียนส่งออก เร่งติวเข้มอบรมมือตัด ปิดต้นทางตัดทุเรียนอ่อน เริ่มวันที่28-29 มี.ค.นี้ เผยยอดลงทะเบียนแตะ 8 พันคน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์การบริโภคผลไม้คุณภาพภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรีว่า ได้ประสานกับทางจังหวัดจันทบุรี ในการสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุหรือล้ง และมือตัดทุเรียน ที่จะช่วยกันผลิตทุเรียนคุณภาพในฤดูการผลิต 2566 ซึ่งปัญหาสำคัญคือการตัดทุเรียนอ่อน

ดังนั้นต้องย้ำให้มือตัดทุเรียนเข้าสู่ขั้นตอนการอบรมให้กระจายไปทั่วประเทศรองรับผลผลิตที่จะออกมา ขณะที่โรงคัดบรรจุต้องช่วยในขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพก่อนการรับซื้อเพื่อไม่ให้มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

"ที่ผ่านมาเมื่อเจอปัญหาทุเรียนอ่อนก็จะโทษกันไปมาระหว่างสวนกับล้ง ดังนั้นจากนี้เราจะมาช่วยกันทำงานจับมือกัน 3 ประสานระหว่าง เกษตรกร มือตัด และล้ง มีหลักสูตรอบรมมือตัดให้เข้าสู่ระบบแม้จะชำนาญอยู่แล้ว ขณะที่เจ้าของสวนกำหนดวันนัดตัดให้ได้ผลผลิตดีที่สุด  และกรณีพบทุเรียนอ่อนล้งก็ต้องไม่รับซื้อ  เป็นการปิดทางทุเรียนอ่อนในห่วงโซ่การผลิต เชื่อว่าเมื่อทำได้แบบนี้ แม้จะมีประเทศคู่แข่ง ก็จะไม่กระทบต่อตลาดทุเรียนไทย" รมช.เกษตรฯกล่าว


นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยพืชสวนจัดหลักสูตรอบรมมือตัดทุเรียน โดยในภาคตะวันออกจัดที่สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (ศวพ.6) จะมีการอบรมในวันที่28-29 มี.ค.66 มีผู้มาลงทะเบียนอบรมเบื้องต้น 8,000 กว่าคน

เปิดรับสมัครต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของสวน เนื่องจากทุเรียนจะต้องตัดในช่วงเวลาจำกัด สำหรับการขึ้นทะเบียนแปลงทุเรียนจีเอพี (GAP)มีการตรวจครบและส่งรายการปรับปรุงให้ทางการจีนเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกในฤดูการผลิตทุเรียนปี 2566 

 

กรมวิชาการเกษตร อบรมมือตัด แก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน

 

นายระพีภัทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 8-9 มี.ค.2566 ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารเพื่อติดตามการทำงานเตรียมความพร้อมรองรับฤดูส่งออกผลไม้ของไทยโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นไป

โดยได้ย้ำให้ด่านตรวจพืชทำงานเชิงรุกและเข้มข้นในการตรวจสอบทุเรียนส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยและหากพบว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพจะไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกอย่างเด็ดขาด  


กรมวิชาการเกษตร อบรมมือตัด แก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน

นอกจากนี้ให้สร้างความเข้าใจกับบริษัทผู้ส่งออกให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการส่งออกและการปฏิบัติตามพิธีสารไทย- จีน ที่จะต้องปลอดโควิด 100% และหากพบเหตุผิดปกติให้แจ้งคณะทำงานเฉพาะกิจคุณภาพผักและผลไม้ไทยหรือชุดฉก.เพื่อร่วมตรวจสอบทันที  ซึ่งชุดฉก.มีอำนาจในการระงับหรือเพิกถอนใบรับรองจีเอ็มพีโรงคัดบรรจุหรือล้ง และยกเลิกแปลงเกษตรจีเอพี  

 

กรมวิชาการเกษตร อบรมมือตัด แก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน

 

ทั้งนี้การส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ชายแดนไทย-ลาว ปี 2565 มีมูลค่าการค้าที่ 5.48 แสนล้านบาท โดยส่งออกนำ-เข้า ที่ด่านมุกดาหารมากที่สุด รองลงมาคือด่านหนองคาย นครพนม สำหรับยอดส่งออกทุเรียนไปจีนเมื่อ ก.พ.-ธ.ค. 2565 มีการส่งออกประมาณ 815, 276 ตัน มูลค่า 86,732 ล้านบาท และในปี 64 มียอดส่งออก 925,855 ตัน มูลค่า 119,160 ล้านบาท