เชือด"เกษตรกร -ล้ง ตัด"ทุเรียนอ่อน-สวมสิทธิ์” คุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท”

01 มี.ค. 2566 | 15:24 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2566 | 15:24 น.
995

“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” ประกาศจับมือจังหวัดจันทบุรี เดินหน้าสานต่อนโยบาย “มนัญญา” เร่งด่วน ป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ เจอ"อ่อน- สวมแปลง" สั่งปิดล้ง และเพิกถอนใบรับรอง GAP เจ้าของสวน ทันที ชี้โทษจำคุก 3 ปี ปรับเงิน 6 หมื่นบาท

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้(ล้ง)ภาคตะวันออก ฤดูการผลิตปี 2566 มีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์   ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน  พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจรับมือฤดูทุเรียนภาคตะวันออกที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด (ก.พ.-ก.ค.)โดยเป็นการสร้างการรับรู้ถึงแนวทางและมาตรการส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันตามความต้องการของประเทศคู่ค้า รวมถึงข้อตกลงตามพิธีสารไทย-จีน ที่ต้องปลอดโควิด ตามมาตรฐานของ GMP Plus   และตามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ที่จะไม่เปิดซีลตู้ขนส่งทุเรียนผ่านไปยังประเทศที่ 3  

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายเข้มงวดมาตรฐานในประเทศตลอดห่วงโซ่การผลิต และตามนโยบายการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เป็นห่วงปัญหาทุเรียนอ่อนและการรักษามาตรฐาน โดยได้ย้ำให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ส่งทีมคณะทำงานเฉพาะกิจคุณภาพผักและผลไม้ไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามในฤดูทุเรียน ซึ่งมีอำนาจในการส่งพักใช้ เพิกถอนใบรับรอง หรือระงับยกเลิกหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนของสวนและโรงคัดบรรจุ

 

“โดยเฉพาะการป้องกันการสวมสิทธิ์แปลงของเกษตรกรไทยเพื่อส่งออกและการตัดทุเรียนอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ  จำนวนแปลงกับจำนวนผลผลิตต้องสอดคล้องกัน ซึ่งทั้งสองกรณีฝากย้ำว่า หากกรมวิชาการเกษตรตรวจเจอจะไม่อนุญาตให้ส่งออก และจะพัก หรือยกเลิกใบรับรองแปลงเกษตรจีเอพีและใบรับรองจีเอ็มพี สำหรับโรงคัดบรรจุทันที  อีกทั้งใบรับรองสวนรูปแบบใหม่นั้นได้มีการประสานกับทางการจีนเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามกรณีทุเรียนอ่อนฝากทางจังหวัดหามาตรการเพื่อป้องกันการนำมาเวียนขายตลาดในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบผู้บริโภคไทยที่ต้องการทานทุเรียนคุณภาพเช่นกัน " นายระพีภัทร์ กล่าว

เชือด\"เกษตรกร -ล้ง ตัด\"ทุเรียนอ่อน-สวมสิทธิ์” คุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท”

นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าจังหวัดเห็นด้วยกับการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อนและต้องมีบทลงโทษทั้งกับสวนและโรงคัดบรรจุตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด  นอกจากนั้นจังหวัดได้มีการออกประกาศหลายฉบับเพื่อรักษามาตรฐานทุเรียนประกอบด้วย 1.เรื่องกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ที่แต่ละสายพันธุ์จะมีวันเริ่มต้นต่างกัน ลงวันที่ 24 มกราคม 2566  

 

เสื้อชุดปฎิบัติการพิเศษผักและผลไม้ไทยคุณภาพ

โดยก่อนตัดให้สวนและล้ง แจ้งด่านตรวจพืชและเจ้าหน้าที่ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียน   2.ประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนลงวันที่ 24  ม.ค. 66 ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร และ 3.ออกคำสั่งจังหวัดจันทบุรีที่ 288/2566  ลงวันที่ 24 มกราคม 2566  เรื่องขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัด เพื่อเป็นกลไกควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ

 

 

โดยให้ผู้ประกอบการแจ้งจุดบริการตรวจก่อนตัด และให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนปิดตู้ส่งออก และแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่งให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด 

นอกจากนี้ได้เตรียมแบ่งเกรดโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง กรณีล้งสีเหลือง แดงจะตรวจเข้มข้น สำหรับความผิดการขายทุเรียนอ่อน เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 หลอกลวงผู้บริโภคมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47  เอาผิดผู้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ  หรือสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าของตนเองหรือผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีเกษตรกร และล้งอาจถูกเพิกถอนใบรับรอง

 

เชือด\"เกษตรกร -ล้ง ตัด\"ทุเรียนอ่อน-สวมสิทธิ์” คุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท”

 

สำหรับจำนวนสวนทุเรียนทั่วประเทศเวลานี้มี 61,637 สวน  แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 27,276 สวน  ภาคใต้ 29,497 สวน และพื้นที่อื่น ๆ 4,864 สวน โรงคัดบรรจุทุเรียนทั่วประเทศ 1,177 แห่ง  แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 619  แห่ง  ภาคใต้ 462 แห่ง  และพื้นที่อื่น ๆ 96 แห่ง  ทั้งนี้การตรวจพืชปลายทาง จะมีการตรวจสอบหมายเลขตู้สินค้า หมายเลขซีล (โดยจะไม่เปิดตู้ตรวจสินค้า ยกเว้นกรณีสงสัย) จากนั้นกรมจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช(PC)