"วราวุธ" สั่งตั้ง War Room แก้ปัญหาไฟป่าทั่วประเทศ

11 มี.ค. 2566 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2566 | 09:16 น.

"วราวุธ" สั่ง กรมอุทยานฯ เร่ง แก้ปัญหาไฟป่าทั่วประเทศ พร้อมประสานกรมฝนหลวงฯ สร้างฝนเทียม  11-13มีนาคมนี้  ตั้ง War Room เฝ้าระวัง ทั่วประเทศ เตรียมแผนรับมือพื้นที่ภาคเหนือ เตือนผู้บุกรุกป่าโทษหนักจับ-ปรับจริง

 

 

 

 

จากปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือและประสานกรมฝนหลวงสร้างฝนเทียม ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  พร้อมด้วยนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3, นายชัชวาล ศิริสมบัติ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า

รวมถึงนายสันติ ศิริเลิศ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันไฟป่า, นายชัยวุฒิ อารีย์ชน  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, นายสุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค, นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง), นายประวัตร พวงทอง  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ,นายอภิสิทธิ์ สมบัติมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม, นายศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก และคณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ

บินสำรวจความเสียหายพื้นที่อุทยานฯจากไฟป่า

ประชุมแผนปฏิบัติการไฟป่า ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองการบินสำนักงานปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการบินสำรวจ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, อุทยานแห่งชาติไทรโยค, อุทยานแห่งชาติเขาแหลม บริเวณจุดชมวิวป้อมปี่, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณอำเภอสังขละบุรี

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิบัติการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงูนั้น ทางกระทรวงฯ

ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้สำหรับเคลื่อนย้ายกำลังพล ในการส่งเสบียง และการทิ้งน้ำเพื่อดับไฟ ซึ่งจะต้องทำงานไปพร้อม ๆ กับเจ้าหน้าที่ชุดภาคพื้น อย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาหมอกควันที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบเชิงท่องเที่ยว 

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย ขณะนี้เกือบจะทุกพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน กลาง ล่าง รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานเกิด Hotspot จำนวนมาก รวมไปถึงพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตก และตะวันออกค่อนข้างมี Hotspot ค่อนข้างสูง

สำรวจไฟป่า

 

นายอรรถพล กล่าวภายหลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ ที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นนั้น พบ Hotspot เป็นจำนวนมาก ทั้งจุดที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว และกำลังมีการเผาไหม้ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือริมเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีการเผาไหม้ เกิดเป็นกลุ่มไฟขนาดใหญ่ กินพื้นที่เป็นบริเวณวงกว้าง  ทั้งป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณ และมีการลุกลามไปยังป่าดิบแล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก

หากเดินเท้าต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำเพื่อดับไฟ และกรมฯ ยังได้เร่งประสานกรมฝนหลวง และการบินเกษตร ในการทำฝนเทียม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าเบื้องต้น และหลังจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมฯ มีการสั่งปิดพื้นที่อุทยานฯ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เป็นการชั่วคราว หลายแห่ง และจะปิดจนกว่าสถานการณ์ไฟป่าจะคลี่คลาย หลังจากนี้คาดว่าจะต้องมีการปิดอุทยานฯ เพิ่มเติม โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงต่อไป นอกจากนี้กรมฯ ยังได้เตรียมแผนเฝ้าระวัง- ควบคุมไฟป่า ในพื้นที่ความเสี่ยง

 

โดยเฉพาะ พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก แถวอุทยานแห่งชาติแม่ปิง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในรอยต่อของอุทยานแห่งชาติสาละวิน  และในส่วนของป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติไทรโยค, อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่ที่พบHotspot เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนหยุดการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบจุดไฟเก็บหาของป่าล่าสัตว์ หรือแม้แต่การเก็บเห็ด เลี้ยงวัว ขอให้หยุด เพราะว่าตอนนี้เราใช้การบังคับกฎหมายแล้ว และผู้กระทำผิดจะได้รับการดำเนินคดีอย่างหนัก เพราะถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเป็นความเสียหายที่กระทบต่อประชาชน

รวมถึงสัตว์ป่าด้วย จึงต้องขอความกรุณาพี่น้องประชาชน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนต่อไป สำหรับพี่น้องประชาชน พบเห็นไฟป่า หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดไฟป่า แจ้งสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

บินสำรวจพื้นที่อุทยานฯ