ตากแชมป์จุดความร้อนสูงสุดภาคเหนือ เร่งมาตรการเชิงรุกจับได้ดำเนินคดีเข้ม เชียงใหม่ตั้งทีมสู้ทุกอำเภอ
สถานการณ์ไฟป่าชาย แดนตราดที่อ.บ่อไร่ ที่ไหม้มาตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. 2566 ยังหนัก ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่าบ้านทับทิมสยาม ต.ด่านชุมพล รายงานว่า กลางดึกวันที่ 6 ถึงเช้าวันที่ 7 มี.ค. 2566 ได้เกิดไฟป่าลุกไหม้อย่างรุนแรงและลามในวงกว้าง บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านทับทิมสยาม 01
นายพสวัตน์ โชติวัตพงษ์ชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินํ้าตกคลองแก้ว รายงานว่า ทางอุทยานแห่งชาตินํ้าตกคลองแก้ว ร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่านํ้าตกคลองแก้ว หน่วยจัดการต้นนํ้าคลองสะตอ ฐานปฏิบัติการป้อง กันรักษาป่าห้วยสะพานหิน ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 1 ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาฯ ได้ร่วมกันดับไฟป่าบริเวณแนวกันไฟ บ้านคลองแสงสำเร็จ แต่ยังคงเฝ้าระวังเพราะยังมีช้างป่าและไฟป่าอยู่โดยรอบ
ช่วงบ่ายวันที่ 7 มี.ค.2566 พล.ร.ต.เทิดเกียรติ จิตต์แก้ว รองผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันจันทบุรี-ตราด (กปต.จต.) เดินทางมาพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยจากการบินสำรวจพบมีการติดไฟเป็นช่วงๆ ตั้งแต่วันแรกมาฮ.ได้ช่วยดับไฟแล้วรวม 10 เที่ยว บริเวณเขาพลู ต.ท่ากุ่ม อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยอุปสรรคช่วงนี้ลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ยังมีอิทธิพลอยู่ ได้สั่งการให้ทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปทำแนวกั้นไฟแล้ว เพื่อป้องกันการลุกลามเข้าไปในพื้นที่อำเภอเมือง
ขณะนายเจริญ ศรีประเสริฐ อายุ 61 ปี อดีตผู้ใหญ่ หมู่ 7 ทับทิมสยาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวด่านชุมพลได้รับเดือดร้อนมาก เนื่องจากมีกลุ่มไหม้ควันไฟปกคลุมทั้งหมด ทำให้เด็กและคนชรามีอาการป่วย ต้องใส่หน้ากากอนามัยกันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ได้รับผล กระทบมาก และหากยืดยาวไปอีก อาจจะเกิดอาการป่วยจากกลุ่มควัน ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะเกิดขึ้นทุกปีแต่ปีนี้รุนแรงและยาว นานกว่าทุกครั้ง
ผลกระทบลามถึงช้างป่าที่ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ไฟไหม้ ซึ่งทหารพรานจากร้อย ทพ.นย.513 (ฐานบ้านมะม่วง) ทำการบินโดรน ตรวจพบช้างป่าบริเวณหน้ากองร้อยฯ จำนวน 13 ตัว ร้องเสียงดังลั่น กำลังเดินข้ามถนนทางหลวงชนบท (ที่ไปยังเนิน 400) ไปทางฐานทับกะได อุทยานแห่งชาตินํ้าตกคลองแก้ว ชุดเคลื่อนที่เร็วตรวจสอบพบช้างป่าออกนอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2 จุด เขตอ.บ่อไร่ คือ ที่บ้านมะอึกแรด ต.หนองบอน 12 ตัว และบ้านมะม่วง ต.นนทรีย์ ยังไม่พบตัวแต่ได้ยินเสียงหากินและเล่นอยู่เกาะกลางอ่างเก็บนํ้าคลองโสน
ด้านพื้นที่ภาคเหนือก็หนัก โดยเฉพาะในจังหวัดตากซึ่งมีจุดความร้อน (ฮอต สปอต) สูงเป็นอันดับ 1 ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 รายงานว่าปัจจุบันจังหวัดตากมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กำหนดไปแล้ว 30 วัน และตรวจพบจุดความร้อน (Hot spot) จำนวนมาก ระหว่าง 24 ก.พ.-2 มี.ค. 2566 มีถึง 1,905 จุด มากสุดที่อำเภอสามเงา 584 จุด รองลงมา ได้แก่ อำเภออุ้มผาง 330 จุด
แนวทางป้องกันและแก้ปัญหา ได้ปรับแผนสู่งานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยมีการดับไฟป่า ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศยาน ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย จับกุมดำเนินคดีทันที เนื่องจากจังหวัดประกาศห้ามเผาเด็ดขาดตั้งแต่ 1 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมาจับกุมดำเนินคดีแล้ว 13 ราย
ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษจากฝุ่นควันติดอันดับต้นๆ ของโลกรองจากกรุงเทพฯ ก็เร่งแก้ปัญหา ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกระดมฉีดล้างทำความสะอาด รดนํ้าต้นไม้ ฉีดพ่นละอองนํ้า เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้อากาศ และลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด รวมถึงขอความร่วมมือเอกชนเจ้าของอาคารในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ร่วมด้วยเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สะสมอยู่ในพื้นที่
ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนในสภาวะมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัย N95 เพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นยํ้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกลาดตระเวน เฝ้าระวังพื้นที่หากเกิดเหตุไฟไหม้ป่าขอให้เข้าปฏิบัติการควบคุมไฟให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และไม่ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน ซึ่งหากต้องการรับการสนับ สนุนอากาศยานในการดับไฟ ขอให้ประสานมายังจังหวัดโดยทันที
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,869 วันที่ 12-15 มีนาคม พ.ศ.2566