รู้จัก “จุดความร้อน” (Hotspot) คืออะไร หลังพบในไทยพุ่งเกิน 3,000 จุด!

13 ก.พ. 2566 | 15:41 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 16:00 น.
5.8 k

“จิสด้า” เผยข้อมูลจากดาวเทียม พบจุดความร้อนในไทยพุ่งสูงเกิน 3,000 จุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบครึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และ“ตาก” มากสุด 524 จุด

 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เผยแพร่ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ไทยมี จุดความร้อน หรือ hotspot จำนวนถึง 3,097 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐสหภาพเมียนมายังคงครองอันดับหนึ่งที่ 3,372 จุด ขณะที่ สปป.ลาว 2,113 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา 973 จุด

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า...

จุดความร้อน หรือ hotspot คืออะไร สำคัญอย่างไร

GISTDA ให้คำอธิบายว่า จุดความร้อน ก็คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกตินั่นเอง

ดาวเทียมหลายดวงถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก สามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรด หรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลกได้ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลและแสดงให้เห็นในรูปแบบจุด ระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้หาจุดความร้อนนั้นสามารถมองหาภาพใหญ่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร และเจาะรายละเอียดระดับพื้นที่เพื่อตีวงความร้อนที่เห็นให้แคบลงเพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์และวางแผนควบคุมไฟป่าในภาพรวม

จุดความร้อนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566 มีมากกว่า 3,000 จุด

การบันทึกข้อมูลจุดความร้อนเมื่อดาวเทียมที่ใช้หาจุดความร้อนโคจรผ่านประเทศไทย ระบบของดาวเทียมจะส่งข้อมูลจุดความร้อนที่บันทึกได้ ซึ่งปกติ ประเทศไทยจะใช้ดาวเทียม Terra, Aqua, Soumi-NPP และ NOAA-20 สำหรับปฏิบัติการนี้ เพราะมีวงโคจรที่คล้ายกันคือโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบ แบ่งเป็นช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ดาวเทียมแต่ละดวงโคจรผ่านช่วงเวลาแตกต่างกันเพื่อให้ระบบสามารถตรวจสอบตำแหน่งของจุดความร้อน หรือไฟได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรืออธิบายในรายละเอียดก็คือ หากเป็นตำแหน่งที่ตรวจพบเป็นไฟป่าจริง ก็จะมีรังสีความร้อนทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยให้ค่าสัมพันธ์กัน แต่หากจุดที่เซนเซอร์ตรวจพบเป็นการสะท้อนรังสีความร้อนจากหลังคาโรงงานหรือวัตถุขนาดใหญ่อื่นๆ เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ระบบก็อาจจะไม่นับว่าจุดความร้อนที่เห็นนั้นคือไฟ

อย่างไรก็ตาม การใช้ดาวเทียมหาจุดความร้อนก็ยังมีข้อจำกัดในการทำงาน โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มไฟขนาดเล็กและอยู่ใต้ต้นไม้ มีกลุ่มควันหนา หรือกลุ่มเมฆหนา ก็จะทำให้ไม่สามารถตรวจวัดรังสีความร้อนจากกลุ่มไฟในรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ดี จุดความร้อนจากดาวเทียม ยังนับเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมองเห็นพื้นที่ที่กำลังเกิดไฟป่า หรือเสี่ยงที่จะเกิดไฟ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น

การใช้ดาวเทียมตรวจสอบตำแหน่งของจุดความร้อน ช่วยให้เราหาตำแหน่งเกิดไฟป่าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ข้อมูลจุดความร้อนนั้นเปลี่ยนแปลงแบบรายวัน ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบจุดความร้อนทั่วประเทศไทยได้และทั้งนี้ จิสด้า ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th

เมื่อตรวจพบแล้ว บ่งบอกอะไร

ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ไทยมีจุดความร้อน จำนวนถึง 3,097 จุด ส่วนใหญ่สูงสุดพบในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

  • ป่าอนุรักษ์ 1,341 จุด
  • ป่าสงวนแห่งชาติ 1,171 จุด
  • พื้นที่เกษตร 223 จุด
  • ชุมชนและอื่นๆ 180 จุด
  • พื้นที่เขต สปก. 168 จุด
  • และริมทางหลวง 14 จุด

ทั้งนี้ จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ตาก 524 จุด เชียงใหม่ 407 จุด และลำปาง 365 จุด ตามลำดับ

จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปริมาณจุดความร้อนมากกว่าภาคอื่นๆ คาดว่า น่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน คือ ฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 นั่นเอง

และที่เรามักจะพบได้บ่อยๆ ก็คือ สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่งผลกระทบระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและระบบสังคม

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก GISTDA