ฝนหลวงภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการยับยั้งพายุ ดับไฟป่าลดหมอกควัน

16 ก.พ. 2566 | 19:41 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2566 | 19:49 น.

ภาคเหนืออ่วม หมอกควันไฟป่า พายุลูกเห็บ กรมฝนหลวง สั่งเปิดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ลดความรุนแรงฝุ่น PM 2.5 พื้นที่เสี่ยงเกิดความเสียหายต่อประชาชนและผลผลิตทางการเกษตร

สุพิศ พิทักษ์ธรรม

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ พบว่าขณะนี้ค่าคุณภาพอากาศในประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก และ จ.กำแพงเพชร ที่ตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศได้ระหว่าง 30-195 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ฝนหลวงภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการยับยั้งพายุ ดับไฟป่าลดหมอกควัน

ทั้งนี้อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นวงกว้างจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

 

ฝนหลวงภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการยับยั้งพายุ ดับไฟป่าลดหมอกควัน

ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบน

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้สั่งการให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ไปประจำการตั้งแต่วันที่ 15 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 5 วัน ปฏิบัติภารกิจทำฝนเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

ฝนหลวงภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการยับยั้งพายุ ดับไฟป่าลดหมอกควัน

โดยมีเป้าหมายหลักคือพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก โดยจะมีการเน้นการปฏิบัติการทำฝนให้อยู่เฉพาะพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อกิจกรรมด้านการเกษตร และพื้นที่เป้าหมายจุดเฝ้าระวังทั้ง 6 ดอย และเขตรอยต่อจังหวัดที่มีการบูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 เช่น พื้นที่ป่าดอยสุเทพถึงดอยปุย ดอยหลวงเชียงดาว เขาพระบาทดอยพระบาท พื้นที่ป่าไม้บริเวณ อ.ฮอดถึง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.สามเงา จ.ตาก เป็นต้น นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก

ในภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยใช้เครื่องบินเกษตร ชนิด Super King Air จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการ โดยนักวิชาการจะติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และวางแผนบินปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นเพื่อลดความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดความเสียหายต่อประชาชนรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรในทันที

ฝนหลวงภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการยับยั้งพายุ ดับไฟป่าลดหมอกควัน

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทันที ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร งดการเผาทุกประเภท เพื่อช่วยกันลดปัญหามลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละออง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถาน และสามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr