ผ่านฉลุย บอร์ด PPP เคาะต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน 3.1 หมื่นล.

03 มี.ค. 2566 | 13:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 15:41 น.

“บอร์ด PPP” ไฟเขียวต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ “รังสิต-บางปะอิน” 3.1 หมื่นล้านบาท ดึงเอกชนร่วมทุน 30 ปี หวังแก้ปัญหารถติดถนนพหลโยธิน-วิภาวดีรังสิต

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบการร่วมลงทุนในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (โครงการ) ของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) มูลค่ารวมประมาณ 31,358 ล้านบาท

 

ทั้งนี้โครงการฯดังกล่าว รัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ในขณะที่เอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานโยธา รวมถึงงานระบบ พร้อมทั้งดำเนินงานและบำรุงรักษาทางยกระดับ ตลอดช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน ระยะทางรวมประมาณ 29 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M - Flow)
 

สำหรับโครงการฯมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลเวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 

ส่วนรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่งดังนี้ 1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1 2.ด่านรังสิต 2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2 3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง 4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ 5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร 6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์ แล 7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์
 

อย่างไรก็ตามโครงการจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและยังเพิ่มโครงข่ายถนนสายหลักตอนบนของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ปทุมธานีและอยุธยา รองรับการเดินระหว่างภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในอนาคตเมื่อโครงการทางหลวงพิเศษ M6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) ก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการรองรับและเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยตรง