คืบหน้า “ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์” รังสิต-บางปะอิน 3.1 หมื่นล. ถึงไหนแล้ว

31 ต.ค. 2565 | 12:36 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2565 | 19:44 น.
596

“ทล.” เดินหน้าสร้างต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท จ่อชงคมนาคมเคาะธ.ค.นี้ เล็งเปิดประมูลปลายปี 66 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP เริ่มก่อสร้างปี 67 คาดเปิดให้บริการปี 71

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 31,375.95 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและงานระบบ 31,303 ล้านบาท และ ค่าเวนคืน 72.95 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่าจะพิจารณาเห็นชอบ ภายในเดือน ธ.ค.65 จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ภายในเดือน ก.พ.66 หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน มี.ค.66 หรือก่อนมีการเลือกตั้ง

 

 

 


ทั้งนี้หลังจากผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว หลังจากนั้นจะใช้เวลา 1-2 เดือน ในการตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อมาจัดทำเอกสารประกาศประกวดราคา (RFP) และคาดว่าจะเปิดประมูลโครงการคัดเลือกเอกชน ได้ภายในช่วงปลายปี 66 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 67-70 เปิดให้บริการปี 71 สำหรับโครงการนี้มีการลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดย ทล. จะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่า และเชื่อมกับโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตรงพื้นที่บริเวณบางปะอิน 
 

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลเวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 

 


สำหรับรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่งดังนี้ 1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1 2.ด่านรังสิต 2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2 3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง 4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ 5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร 6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์ แล 7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์ โครงการนี้จะมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow 
 

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ด้านเหนือ และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองทางด้านทิศเหนือที่เชื่อมต่อกับ จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเชื่อมต่อกับโครงข่ายที่สำคัญในการเดินทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ 3 สาย คือ ถนนกาญจนาภิเษก (ทล.9) ด้านตะวันตกและด้านตะวันออก, บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ บางปะอิน-นครสวรรค์ (M5) รวมถึงถนนเอเชียและถนนพหลโยธิน ทำให้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สนับสนุนกิจกรรม โลจิสติกส์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ