"ซับเวย์" ทำไมขายกิจการ ทั้งที่ธุรกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 เร็วที่สุด

17 ก.พ. 2566 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2566 | 20:36 น.
2.7 k

"ซับเวย์" เครือข่ายแซนด์วิชระดับโลก ประกาศขายกิจการ หลังเกือบ 6 ทศวรรษของการเป็นผู้นำธุรกิจแฟรนไชส์ระดับโลก แม้ตลอดหลายปีผ่านมาบริษัทเติบโต และฟื้นตัวจากโควิด 19 อย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงลิ่วและการแข่งขันที่สูงขึ้น

"ซับเวย์" เครือข่ายแซนด์วิชระดับโลก ประกาศหาผู้ซื้อต่อกิจการ หลังยืนหยัดเกือบ 6 ทศวรรษของการเป็นผู้นำธุรกิจแฟรนไชส์แบบครอบครัว โดยขณะนี้ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่แพ้อีกหลายธุรกิจทั่วโลก

เจพีมอร์แกน (JP Morgan) เป็นผู้ดูแลเรื่องการขายกิจการให้ซับเวย์ ซึ่งการขายบริษัทอาจมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 แสนล้านบาท  อ้างอิงจากรายงานของ Wall Street Journal ซึ่งเป็นสื่อที่รายงานเรื่องนี้เป็นที่แรก โดยขณะนี้ ซับเวย์ ยังไม่มีแผนที่จะแจ้งความคืบหน้าในกระบวนการขายกิจการจนกว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น และไม่ได้ระบุว่าจะใช้เวลานานเท่าใด

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซับเวย์ประกาศยอดขายปี 2565 จากสาขาที่มี โดยยอดขายเพิ่มขึ้น 9.2% จากเมื่อเทียบกับปี 2564 โดย “พยายามดำเนินการเปลี่ยนแปลงธุรกิจมาหลายปี"  ทั้งเพิ่มเมนูใหม่และการปรับปรุงร้านอาหารให้ทันสมัย

"ซับเวย์" กว่า 50 ปีจากอเมริกาสู่แฟรนไชส์ 37,000 สาขา

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ.2508 ซับเวย์ก่อตั้งขึ้นในชื่อ Pete's Super Submarine ในเมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา โดยเฟรด เดลูกา  (Fred DeLuca) ที่ขณะนั้นเขาอายุเพียง 17 ปี ร่วมกับ ปีเตอร์ บัก (Peter Buck) เพื่อนสนิทของเขา ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนชื่อร้านหลายครั้ง ก่อนที่สุดท้ายจะใช้ชื่อมาเป็น ซับเวย์ (Subway) ในปี พ.ศ. 2515

ภายในเวลา 2 ปี ซับเวย์เปิดร้านขายแซนด์วิช 16 แห่งในรัฐคอนเนตทิคัต  แหล่งกำเนิดแบรนด์  จากนั้นจึงเริ่มเปิดขายแฟรนไชส์ จนปัจจุบันมีสาขาเกือบ 37,000 แห่งในกว่า 100 ประเทศ รวมถึงในไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 สาขา มีผู้ประกอบการดำเนินการผ่านระบบแฟรนไชส์รวมทั่วโลก หลายพันราย

วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของ "ซับเวย์"

จุดแข็งของซับเวย์ คือ มีสาขาจำนวนมาก ระบบหลังบ้านดีทั้งคุณภาพวัตถุดิบ และการให้บริการที่รวดเร็ว พนักงานใส่ใจลูกค้า แต่จุดอ่อน คือ มีคู่แข่งในตลาดฟาสฟูดส์หลายราย และไม่ได้มีร้านแซนวิชแค่ซับเวย์ ในตลาดเจ้าเดียว  ราคาขายก็ไม่ได้ถูกเมื่อเทียบคู่แข่ง  ความหลากหลายเมนูไม่ได้มากเท่าไร

หลังโควิด ซับเวย์ฟื้นตัวก้าวกระโดด รายได้ดีดถึง 474%

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้ติดตามผลประกอบการแฟรนไชส์ Subway ทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในช่วง พ.ศ. 2563-2564  บริษัทมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 19,364,000 ดอลลาร์ (669 ล้านบาท)  รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 474% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 และ 2563

ในปี 2564 รายได้ ซับเวย์ เติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ช้าลงมาก ส่งผลให้รายได้สุทธิของซับเวย์สูงขึ้น

ซัยเวย์ เคยขึ้นแท่นร้านอาหารที่มี "สาขามากที่สุดในโลก"

ซับเวย์ เคยเป็นเครือร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และ มีสาขาแฟรนไชส์มากที่สุดในโลก แต่มีช่วงหนึ่งเหล่าแฟรนไชส์ซีหลายรายบ่นเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจของ Subway ที่จำเจ และต้องการออกจากระบบ 

แม้การเปิดแฟรนไชส์ซับเวย์ ค่อนข้างง่าย และต้นทุนเริ่มต้นต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมาก เริ่มต้นถูกมากเมื่อเทียบคู่แข่ง คือ อยู่ระหว่าง 222,050 ถึง $506,900 ดอลลาร์หสรัฐ  หรือ 7.67 ล้านบาท ถึง 17 ล้านบาท (ในประเทศไทย ลงทุน 3 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับ แมคโดนัลด์  (McDonald's)  ซึ่งมีต้นทุน 1.3 ล้านดอลลาร์ (44 ล้านบาท) และเกือบ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (86 ล้านบาท)  สิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมแฟรนไชส์ของซับเวย์ จึงดำเนินการโดยบุคคลหรือครอบครัวเป็นหลัก เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ซึ่งแตกต่างจาก แมคโดนัลด์  ซึ่งหลายแห่งเปิดสาขาในนามบริษัทที่ต้องระดมทุน 

ปี 2022 ซับเวย์ติดอันดับห้าร้านอาหารที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุด

เว็บไซต์ brandirectory.com  มีการจัดอันดับ 10 อันดับแบรนด์ร้านอาหารประเภท Chain restaurant หรือ ร้านที่มีสาขาจำนวนมาก ดำเนินงานโดยบริษัทเดียวกันหรือรายบุคคลผ่านแฟรนไชส์ ที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุด เมื่อปี 2565 พบว่า ซับเวย์ ติดอันดับ 5 ด้วยมูลค่าธุรกิจที่ 7,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระดับ AA ตกจากปี 2563 ที่เคยอยู่ระดับ AA+ เป็นรองแค่ สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ เคเอฟซี และโดมิโนพิซซ่า

\"ซับเวย์\" ทำไมขายกิจการ ทั้งที่ธุรกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 เร็วที่สุด


แม้ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะเข้ามาซื้อกิจการซับเวย์ ต่อ และไม่มีใครรู้ว่าข่าวนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการธุรกิจร้านอาหารระดับเดียวกันหรือไม่ แต่ทางซับเวย์ ยืนยันว่าบริษัทยังคงมุ่งเน้นที่จะหาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้แฟรนไชส์ซี ประสบความสำเร็จ และทำกำไรได้ต่อไป

 

ที่มา: Sandwich chain Subway explores sale of business , Subway Franchise Cost Low Pay Low, Aiming For Long Term (2023) , RESTAURANTS 25 2022 RANKING