การเปิดด่านพรมแดนเมียวดี-แม่สอดให้คนสัญจรเข้าออกไปมาหาสู่กันได้อีกครั้ง ไม่เพียงทำให้ประชาชน 2 ฟากพรมแดนคือเมียนมาและไทยดีใจเท่านั้น กระทั่งอินเดียและบังกลาเทศ ประเทศในเอเชียใต้ ก็ร่วมยินดี และหวังได้เห็นคนจาก 4 ชาติไปมาหาสู่กันในอนาคต บนเส้นทางที่เชื่อมโยงถึงกันในระยะ 1,000 กิโลเมตร
หลังจากที่ตัวแทนทางการระดับท้องถิ่นของไทย โดยนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ของไทย และนายอูซอติ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ของสหภาพเมียนมา ต่างนำหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมตัวแทนภาคเอกชน ประชาสังคมของแต่ละฝ่าย ร่วมทำพิธีเปิดด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่นํ้าเมย แห่งที่ 1 เมื่อ 12 ม.ค. 2566 ให้ผู้คนจาก 2 ประเทศ ได้สัญจรผ่านเข้าออกระหว่างกันได้อีกครั้ง หลังจากปิดไปเกือบ 3 ปี จากการระบาดเชื้อโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถัดมาไม่กี่วัน นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดีย ประจำประเทศ ไทย ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่และเข้าพบคณะกรรมการหอการ ค้าจังหวัดตาก ที่อ.แม่สอด โดยมี นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้าตาก นางธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวย การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก และ คณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
โดยเอกอัครราชทูตอินเดีย กล่าวตอบว่า ตนเองรู้สึกมีความสุขและดีใจ ที่ไทยกับเมียนมามีการเปิดด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี ผ่านสะพานมิตรภาพฯแห่งที่ 1 อันจะนำไปสู่การค้า เศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลังจากมี ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 มานาน
ทั้งมองว่า ในอนาคตอันใกล้ ประชาชนจาก 4 ชาติ คือ ชาวไทย อินเดีย เมียนมา และชาวจีน จะได้ใช้เส้นทางรถยนต์ ในระยะ 1,000 กิโลเมตร จากชายแดนแม่สอด ไปยังพื้นที่ประเทศดังกล่าว เกิดการเชื่อมโยงทางการค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ที่จะตามมา ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงเอกอัครราชทูตอินเดีย ที่ให้ความสนใจการเปิดด่านแม่สอด ถึงกับลงมาพื้นที่ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 27-28 มิ.ย. 2565 นายมูฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัคราชฑูตบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย ก็ได้นำคณะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เช่นกัน และกล่าวชัดเจนว่า ต้องการสร้างความเชื่อมโยง 4 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินเดีย (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เมียนมา และประเทศไทย ผ่านด่านแม่สอดในอนาคต
การขยับตัวของบังกลาเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ที่ลงพื้นที่ดูการเปิดด่านพรมแดนแม่สอดกับเมืองเมียวดี ของเมียนมา สะท้อนความสนใจการจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอินเดีย หรือภูมิภาคเอเชียใต้ กับภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ของอินเดีย ที่มีนโยบาย Look East เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างกันแล้ว ยังเป็นการคานอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวเข้ามาในภูมิภาค และลงไปถึงทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีโมดี ได้ยกระดับเป็นแผนปฎิบัติการตะวันออก (Act East Policy)
อินเดียจึงมุ่งที่จะพัฒนา การค้าการลงทุน จากที่มีการลงทุนของอินเดียในกลุ่มประเทศ CLMV ระหว่าง พ.ศ. 2560-2561 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,331.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านเวทีการประชุมเชิงธุรกิจ (India-CLMV Business Conclave) และผลักดันความร่วมมือลุ่มแม่นํ้าโขง-คงคา (Mekon-Ganga Cooperation: MGC) ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อเสริมสร้าง และเชื่อมโยงความร่วมมือ ในกิจกรรมหลัก 4 สาขา ระหว่างประเทศไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว และอินเดีย ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม และด้านการคมนาคมขนส่ง
รวมทั้งผลักดันโครงการทางหลวงเชื่อมโยง 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เมียนมา และไทย ภายใต้ชื่อ Trilateral Highway โดยจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ ประเทศอินเดียกับเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของประเทศไทย เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเพื่อเชื่อมโยงการ คมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ
อินเดียตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้ากับเมียนมาเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และเพิ่มการค้ากับอาเซียนเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 จาก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 แต่มาสะดุดจากการระบาดเชื้อโควิด-19
การขยับตัวของประเทศกลุ่มเอเชียใต้ ที่กระตือรือล้นที่จะเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับอาเซียน ที่ต่อเนื่องไปถึงประเทศจีนได้ เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะจีนและอินเดีย เป็นประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจอันดับต้น โดยจีนเป็นอันดับ 2
ส่วนอินเดียอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก ซึ่งโดยจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ และแนวนโยบายที่มุ่งเศรษฐกิจตลาดมากขึ้น ทำให้ถูกจับตาว่ากำลังเป็นหัวจักรเศรษฐกิจใหม่ของโลกอีกตัวหนึ่ง ที่มีศักยภาพการขยายตัวในระดับสูง
การขยับตัวของอินเดีย และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าจะเข้ามามีบทบาทในกลุ่ม CLMVT และอาเซียนเพิ่มขึ้น ที่ต้องจับตาและปรับตัวรับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
อัศวิน พินิจวงษ์/รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566