รฟท.ลุยสร้างรถไฟทางคู่แม่สอด-นครสวรรค์ 1.08 แสนล้าน

09 ม.ค. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2566 | 22:10 น.
2.4 k

คมนาคม อัพเดทแผนศึกษารถไฟทางคู่แม่สอด-นครสวรรค์ 1.08 แสนล้าน ยันสร้างอุโมงค์ดอยพะวอ ไม่กระทบตานํ้า เล็งชงคมนาคม-ครม.เคาะปี 66 ลุยตอกเสาเข็มสัญญาแรกปี 67 เปิดให้บริการปี 72

โครงการรถไฟทางคู่ “แม่สอด-นครสวรรค์” มูลค่าหนึ่งในแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor) ทำ ให้เกิดโครงข่ายที่สมบูรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางราง

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าว่า โครงการรถไฟทางคู่สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทางรวม 250 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 108,498 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 101,918 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 3,895 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดิน 112 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 2,557 ล้านบาท ที่ผ่านมา รฟท. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณลงทุนประจำปี 2563 เพื่อดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (Detailed Design) และศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จ โดยทั้ง 2 ช่วง ทางรฟท. ได้เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว 
 

ปัจจุบันรฟท.และที่ปรึกษาอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมและจัดทำข้อมูลแนวเขตที่ดินในรายงาน การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับปรับปรุง ตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม, สศช. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2566


ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการฯมีแผนจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ภายในเดือนตุลาคม 2566-กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มสำรวจอสังหาริมทรัพย์และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมขอใช้พื้นที่กรม อุทยานฯ กรมป่าไม้ และหน่วยงานอื่นๆ ภายในเดือนเมษายน 2567-กันยายน 2569
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ตามแผนจะจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (TOR) และเริ่มเปิดประมูลหาผู้รับจ้างภายในช่วงเดือนมกราคม 2567-กันยายน 2567 คาดว่าเริ่มก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2567 และมีแผนเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2573

 

สำหรับการก่อสร้างโครงการฯ แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ดังนี้ สัญญาที่ 1 ช่วงนครสวรรค์-ตาก ตั้งแต่กม.0+000-กม.183+000 มีระยะทางรวม 183 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นดิน 177.6 กิโลเมตร ทางรถไฟยกระดับ 5.4 กิโลเมตร สะพานรถไฟ 196แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) 6 แห่ง ที่หยุดรถไฟ 8แห่งสถานีรถไฟ 15 สถานี ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี (48 เดือน) ตุลาคม 2568-กันยายน 2572

 

สัญญาที่ 2 ช่วงตาก-แม่ละเมา ตั้งแต่ กม.183+000 - กม.217+025 มีระยะทางรวม 34.025 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นดิน 24.5 กิโลเมตร ทางรถไฟยกระดับ 9.5 กิโลเมตร อุโมงค์รถไฟ 1 แห่ง 15.5 กิโลเมตร สถานี 1 สถานี ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี (72 เดือน) ตุลาคม 2567-กันยายน 2573

 

สัญญาที่ 3 ช่วงแม่ละเมา-แม่สอด ตั้งแต่ กม.217+025 - กม. 250+020 มีระยะทางรวม 32.995 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นดิน 22.8 กิโลเมตร ทางรถไฟยกระดับ 10.2 กิโลเมตร สะพานรถไฟรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) 1 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 3 แห่ง 14.2 กิโลเมตร สถานี 3 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี (72 เดือน) ตุลาคม 2567-กันยายน 2573

รฟท.ลุยสร้างรถไฟทางคู่แม่สอด-นครสวรรค์ 1.08 แสนล้าน

รายงานข่าวจากผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ทีมวิศวกร และนักวิชาการโครงการฯ กล่าวว่า ในกรณีที่มีหนังสือจากภาคเอกชนและมีข้อมูลจากคณะผู้นำชุมชนและจิตอาสา ต้องการให้ทบทวนผลการศึกษาแนวเส้นทางและอุโมงค์ดอยพะวอใหม่ เนื่องจากกังวลว่า การตัดอุโมงค์จะมีผลกระทบต่อตาน้ำ ของตำบลแม่ปะ ที่อยู่ใกล้วัดโพธิคุณ รวมทั้งคณะผู้นำชุมชนมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตากขอให้มีการชะลอโครงการและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาผลกระทบเรื่องตาน้ำ ใหม่นั้น เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาในรายละเอียด ด้วยการบินอากาศยานไร้คนขับเพื่อถ่ายภาพทางอากาศ การวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลธรณีวิทยา การสำรวจข้อมูลอุทกวิทยาและอุทกธรณีวิทยา และการเจาะสำรวจธรณีวิทยาและชั้นหินตามแนวอุโมงค์ ตามหลักการ เครื่องมือ วิธีการ และมาตรฐานทางวิศวกรรมแล้ว 


ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าตาน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นน้ำใต้ดินประเภทน้ำซับ ซึ่งไม่มีผลกระทบจากการก่อสร้างอุโมงค์ต่อสภาพอุทกธรณีวิทยาและอุทกวิทยาในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่รับน้ำแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับแนวอุโมงค์ที่ก่อสร้างในชั้นหินใต้ยอดภูเขา ตํ่ากว่ายอดเขาราว 400 เมตร จึงไม่กระทบกับการรับน้ำและรวบรวมน้ำ

 

นอกจากนี้กรณีการขอชะลอโครงการหรือขอปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง ยังเป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้ โดยทางคณะผู้นำชุมชน หรือประชาชนในพื้นที่ หรือทางจังหวัด เสนอ โดยทางโครงการศึกษาได้ยืนยันความเหมาะสมทางวิศวกรรมที่ศึกษาครอบคลุมตามมาตรฐานทางวิชาการแล้ว ประกอบกับในช่วงพื้นที่จากจังหวัดตากมาสู่อำเภอแม่สอด เป็นผืนป่าที่สำคัญและมีความสมบูรณ์ การก่อสร้างในรูปแบบของอุโมงค์เป็นรูปแบบที่มีผลกระทบน้อยที่สุด และแนวทางเลือกได้มีการวิเคราะห์และเปรียบเทียบแล้วถึงความเหมาะสม โดยเป็นระยะทางที่สั้นที่สุดที่จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะทำให้ค่าลงทุนก่อสร้างมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ


สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯ  มีจุดเริ่มต้นของโครงการอยู่ที่ สถานีปากนํ้าโพ และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด ระยะทางรวม 250.02 กม. บนเขตทางรถไฟโดยทั่วไปมีความกว้าง 50 เมตร (ROW.) แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ทางรถไฟ ช่วงที่1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มีระยะทาง 183 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นที่ กม.0+000 ที่สถานีปากนํ้าโพ โดยแนวเส้นทางแยกออกจากทางรถไฟเดิมของโครง การก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพ ประกอบด้วย 8 ที่หยุดรถไฟ และ 15 สถานี อาทิ  สถานีบึงเสนาท, สถานีมหาโพธิ, สถานีหนองบัวใต้, สถานีตาก ฯลฯ มีจุดสิ้นสุดที่ กม.183+000


ทั้งนี้ทางรถไฟ ช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอดมีระยะทาง 67.02 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นที่ กม.183 ต่อจากช่วงที่ 1 ประกอบด้วย 4 สถานี อาทิ สถานีด่านแม่ละเมา, สถานีแม่ปะ, สถานีแม่สอด และสถานีด่านแม่สอด จุดสิ้นสุดโครง การที่ กม. 250+020 ในแนวเส้นทางรถไฟ โดยช่วงนี้มีรูปแบบเป็นโครงสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง มีระยะทางรวมประมาณ 29.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย อุโมงค์ดอยรวก ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร, อุโมงค์ด่านแม่ละเมา 1 ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร, อุโมงค์ด่านแม่ละเมา 2 ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร และ อุโมงค์ดอยพะวอ ระยะทาง 12 กิโลเมตร