รถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.39 แสนล้าน วุ่น ติดหล่มเวนคืน

05 พ.ย. 2565 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2565 | 14:04 น.
9.2 k

“คมนาคม” เปิดแผนอัพเดท “รถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน” วงเงิน 1.39 แสนล้านบาท ติดหล่มเวนคืนที่ดิน กระทบโครงการฯล่าช้า เร่งจ่ายค่าทดแทนชาวบ้าน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดสองโครงการรถไฟทางคู่ใหม่ สายเหนือ -อีสาน เนื่องจากล่าช้ามานาน แต่เนื่องจากเป็นเส้นทาง ตัดใหม่ทั้งหมดต้องเวนคืนผ่านที่ดินประชาชน อาจทำให้ล่าช้าบ้าง

 

 

 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท ที่ผ่านมาพบว่าแนวเส้นทางโครงการไม่มีเขตทาง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินเพื่อทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในเขตพื้นที่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย คาดว่าจะดำเนินการจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างเตรียมพร้อมสำหรับงานก่อสร้างต่อไป ตามแผนจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี หลังจากนั้นจะเปิดบริการปี 2571

 

 

 

 “สาเหตุที่โครงการฯมีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญการอุทธรณ์จ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งตามพ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฉบับใหม่ มีการจดประเมินราคาที่ดินในราคาถูกตามกรมที่ดิน เพื่อชำระภาษีในราคาถูก ส่งผลให้เมื่อใช้การประเมินราคาที่ดินในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินในราคาถูก เพราะเขามองว่าไม่ยุติธรรม ขณะที่พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฉบับเก่า ใช้การจดประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาด ทำให้ชาวบ้านได้ค่าทดแทนในราคาที่ดีกว่าและเป็นที่ยอมรับมากกว่า”

 

 

 

สำหรับการเวนคืนที่ดินในโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ใช้งบประมาณราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินใน จ.แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย รวม 8,665 แปลง ประมาณ 12,076 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน ส.ป.ก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่นๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ

ส่วนงานก่อสร้างขณะนี้อยู่ระหว่างการเจาะสำรวจดินในการออกแบบอุโมงค์ รวมถึงการขออนุญาตกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อเตรียมการก่อสร้างจุดตัดทางรถไฟ โดยลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 และเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งแบ่งก่อสร้าง 3 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กิโลเมตร (กม.) กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างฯ

 

 

 

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กิโลเมตร (กม.) กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ

 

 

 

และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กิโลเมตร (กม.) กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่างฯ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าก่อสร้าง 66,848 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขั้นตอนการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ที่ผ่านมาได้ประชุมกำหนดราคาเบื้องต้น ครั้งที่ 1 ในเขตท้องที่จ.ขอนแก่น และ จ.ยโสธร เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และประชุมฯ ครั้งที่ 2 ในเขตท้องที่จ.ขอนแก่น และจ.ยโสธร เมื่อเดือนกันยายน 2565 คาดว่าจะประกาศราคาในเขตท้องที่จ.ขอนแก่น และ จ.ยโสธร ได้ภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นผู้รับจ้างจะเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างได้ครบทั้งโครงการฯ ภายในปลายปีนี้ ตามแผนจะใช้ระยะเวลาก่อ สร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2569

 

 

 

 สำหรับการเวนคืนที่ดิน จะใช้งบประมาณประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืน รวม 9,012 แปลง 18,462 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 2,368 หลัง และไม้ยืนต้น 6,711 แปลง

รถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.39 แสนล้าน วุ่น ติดหล่มเวนคืน

 

 

ทั้งนี้ผู้รับจ้างได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างบาง ส่วนแล้ว โดยลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ซึ่งแบ่งก่อสร้าง 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กิโลเมตร (กม.) กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ประกอบด้วย บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด บริษัท กิจการร่วมค้าทีบีทีซี จำกัด บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด และบริษัท เค.เอส.ร่วมค้า จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ

 

 

 

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กิโลเมตร (กม.) กิจการร่วมค้า ยูนิค ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พี.ซีอีที จำกัด บริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท วัชรขจร จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ