"ตาก"จี้รฟท.เบี่ยงแนวอุโมงค์รถไฟทางคู่ช่วงดอยพะวอ

22 พ.ย. 2565 | 17:43 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 00:56 น.
1.5 k

รฟท.จัดประชุมฟังความเห็นโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่นครสวรรค์-แม่สอด ชาวตากจี้เบี่ยงแนวอุโมงค์บริเวณดอยพะวอ ให้พ้นบริเวณวัด และไม่ให้กระทบตาน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที ที่ปรึกษาหอการค้าตากหนุนพ่วงมอเตอร์เวย์ เร่งเปิดใช้สนามบินรับเครื่องขนาดใหญ่ดึงค่าตั๋วให้ถูกลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่้อเร็ว ๆ นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ซึ่งมีเขตก่อสร้างบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นางธนชพร ต๊ะทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่ปะ  พร้อมกำนันตำบลแม่ปะ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รวมถึงแกนนำภาคประชาชน  เดินทางมาร่วมประชุม

 

ในที่ประชุมชาวบ้านพื้นที่จังหวัดตาก เสนอให้เลี่ยงจุดขุดอุโมงค์บริเวณดอยพะวอ กม.225+758 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่แนวเส้นทางจะตัดผ่านวัดโพธิคุณ (วัดห้วยเตย) ตำบลแม่ปะ  โดยเสนอให้เลี่ยงแนวไปยังจุดอื่น ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตาน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชาวตำบลแม่ปะ และตำบลแม่สอด ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรบางส่วน 
 

\"ตาก\"จี้รฟท.เบี่ยงแนวอุโมงค์รถไฟทางคู่ช่วงดอยพะวอ

\"ตาก\"จี้รฟท.เบี่ยงแนวอุโมงค์รถไฟทางคู่ช่วงดอยพะวอ

โดยชาวบ้านแสดงความกังวล ว่าจุดขุดอุโมงค์ตรงกับบริเวณวัด และจะขุดลึกนับ 100 เมตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้รับทราบประเด็นดังกล่าว และจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่า ประชาชนตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ขอเลี่ยงเส้นทางขุดอุโมงค์ให้พ้นจากจุดนี้ออกไป เนื่องจากเส้นทางตามแนวอุโมงค์บริเวณดอยพะวอ มีปัญหาเรื่องตาน้ำ ซึ่งจะได้ให้นายอำเภอแม่สอด และผู้นำท้องถิ่น ติดตามเรื่องนี้กับทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ ในช่วงที่กำลังลงพื้นที่พบปะกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป 
 

 

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มี 27 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย

1.จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ สถานีบึงเสนาท, บ้านมะเกลือ, มหาโพธิ์, หัวดง, บางตาหงาย, เจริญผล, ตาขีด

2.จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ สถานีป่าพุทรา, ยางสูง, วังแขม, วังยาง, ท่ามะเขือ, วังบัว, คณฑี,เทพนคร, กำแพงเพชร, หนองปลิง, ลานดอกไม้, โกสัมพี

3.จังหวัดตาก ได้แก่ สถานีวังเจ้า, วังหิน, หนองบัวใต้, ตาก, ด่านแม่ละเมา, แม่ปะ, แม่สอด และด่านแม่สอด 

 

ล่าสุดได้ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ทางประชาชนตำบลแม่ปะ ยังข้องใจจุดขุดอุโมงค์ดอยพะวอ ที่หวั่นไปกระทบกับตาน้ำ

 

รายงานข่าวแจ้งว่า  สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ  ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256.40 กิโลเมตร ตามผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ 

 

เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor Upper) จากแม่สอด - นครพนม มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน รวมทั้งให้เกิดความต่อเนื่องและความสมบูรณ์ชัดเจน ต่อผลการศึกษาที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ดังนี้

 

1. การวางแนวเส้นทาง กำหนดแนวเขตทาง การวางรูปแบบโครงสร้าง ในช่วงที่เป็นจุดตัดกับโครงการอื่น และเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบ เพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ที่ได้จัดทำไว้แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558    

 

2. ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการฯ

 

3. สำรวจออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง

 

4. ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

ขณะที่นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก นักธุรกิจการค้าชายแดนไทย-เมียนมารายใหญ่ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า การมาประชุมของรฟท.เพื่อเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน และชี้แจงเรื่องการเวนคืนที่ดิน ที่จะมีเส้นทางรถไฟตัดผ่านที่ดินนั้น ก็เป็นเรื่องดีต่อพื้นที่ ที่จะได้มีการพัฒนาเส้นทางระบบคมนาคมเพิ่มขึ้น 

 

ในส่วนนี้อยากขอให้รัฐบาล กระทรวง กรม และหน่วยนงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำโครงการ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway) สายตาก-แม่สอด เป็นโครงการคู่ขนานควบคู่กันไปด้วย โดยมีการเก็บค่าผ่านทาง  โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนดำเนินโครงการ ซึ่งทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway) ตาก-แม่สอดนี้ ได้มีการสำรวจออกแบบไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

 

 ส่วนการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29  ระหว่างวันที่  18-19 พฤศจิกายน 2565 ( APEC  2022 ) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น นับว่าเป็นผลดีกับประเทศ ที่จะได้รับประโยชน์จากหลาย ๆ ด้าน ซึ่งควรจะเจรจาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้าชายแดนเพิ่มเข้าไปด้วย จะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจด้านชายแดนในกลุ่มประเทศอาเซียน     อย่างไรก็ตาม การประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ APEC  2022  ครั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้รับสิ่งดี ๆ แน่นอน
  

 

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ-การค้า-การท่องเที่ยว ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า อยากจะฝากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการเปิดใช้สนามบินนานาชาติ ท่าอากาศยานแม่สอด ที่ปัจจุบันมีการขยายรันเวย์ จากเดิมความยาว 1,600  เมตร  เป็น 2,100 เมตร  แล้ว

 

ซึ่งหากมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เร่งอนุญาตเปิดใช้รันเวย์ที่ขยาย 2,100 เมตร เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น โบอิ้ง 737 สามารถลงจอดได้ จะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง เนื่องจากจะมีสายการบินขนาดใหญ่ จะมาเปิดเที่ยวบินที่สนามบินนานาชาติแม่สอด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการออกใบอนุญาตทันที