วิบากกรรม“เหล็กแผ่นเคลือบ” 6 ปีนำเข้าพุ่ง รัฐเหลว-จีนดัมพ์ราคา

15 ม.ค. 2566 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2566 | 16:24 น.
1.6 k

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยเผชิญวิบากกรรมวนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแข่งขันที่มาในรูปแบบต่างๆ ของการนำเข้า

วิบากกรรม“เหล็กแผ่นเคลือบ” 6 ปีนำเข้าพุ่ง รัฐเหลว-จีนดัมพ์ราคา

 

ล่าสุด นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กเคลือบสังกะสี ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงปัญหาที่สะสมมานานของผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีในประเทศไทย ที่เขามองว่าเป็นตัวอย่างที่แฝงความล้มเหลวในหลากหลายมิติ

 

ภาพรวมเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ภาพรวม “เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี” เติบโตดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นตัวอย่างที่แฝงความล้มเหลวในหลายมิติของอุตสาหกรรมเหล็กไทย มีเหตุผลจากการนำสินค้าชนิดนี้เข้าไปใช้ทดแทนเหล็กหรือสินค้าอื่น ๆ ในหลากหลายลักษณะการใช้งาน เช่น การนำไปใช้ทดแทนเหล็กแผ่นรีดร้อนสำหรับงานโครงสร้าง ที่ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลงไปได้มากเพราะไม่ต้องมาเชื่อมเหล็ก หรือทาสีรองพื้นกันสนิม การใช้ทดแทนงานหลังคาในวัสดุเดิม เช่น กระเบื้อง จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และเรียกกันติดปากว่า “เมทัลชีท” รวมไปถึงการใช้ในงานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ และในอุตสาหกรรมรถยนต์ สรุปได้ไม่เกินจริงว่าเหล็กชนิดนี้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันหากให้ประเมินปริมาณการบริโภคที่นับจากการผลิตในประเทศ รวมกับการนำเข้าและหักการส่งออกแล้ว การบริโภคเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีของไทยจะมีค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่เมื่อหักการบริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ออก จะเหลือค่าเฉลี่ยของการบริโภคเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1-1.5 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับราคานำเข้าจูงใจให้สั่งเข้ามาสต๊อกไว้หรือไม่ เพราะกำลังการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีในประเทศอยู่ที่ระดับ 1 ล้านตันเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดีเวลานี้ผู้ผลิตในประเทศใช้กำลังผลิตเพียง 20-30 % ของกำลังผลิตที่มีทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลือ 70-80% ของส่วนแบ่งการตลาดล้วนเป็นสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศจีน ที่มีอิทธิพลต่อการผลิตและการกำหนดราคาในตลาดสูงมาก สังเกตได้จากตัวเลขนำเข้าจากประเทศจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึง ไตรมาส 3 ของปี 2565 เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี (กราฟิกประกอบ)

 

วิบากกรรม“เหล็กแผ่นเคลือบ” 6 ปีนำเข้าพุ่ง รัฐเหลว-จีนดัมพ์ราคา

 

 

เปิด 3 มิติแฝงความล้มเหลว
“ด้วยปริมาณการนำเข้าดังกล่าว ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินค้าชนิดนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ผลิตในประเทศกับผู้นำเข้า ผลลัพธ์ใครแพ้ใครชนะดูได้จากส่วนแบ่งการตลาด หากถามว่าผู้ผลิตทราบถึงปัญหา อุปสรรค ตลอดจนได้ดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ทุกฝ่ายทราบดีและได้ดำเนินการแก้ปัญหาในหลายแนวทางแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นที่มาของข้อสรุปในตอนต้นว่า เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นตัวอย่างที่แฝงความล้มเหลวในหลายมิติของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

 

โดยมิติแรก เป็นเรื่องโครงสร้างของราคาตั้งแต่เหล็กต้นนํ้าถึงปลายนํ้า เรื่องนี้สำคัญมากเพราะเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคเพื่อให้ภาพรวมอยู่รอดและเติบโตกันทั้งหมด แต่หลายปีที่ผ่านมา จากมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมากแบบเป็นเท่าตัว พบว่ามีโครงสร้างราคาที่ผิดปกติ คือราคานำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีจากจีนถูกกว่าเหล็กแผ่นรีดเย็นในประเทศซึ่งเป็นวัตถุดิบก่อนนำมาเคลือบสังกะสี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ผลิตในประเทศจะไปสู้ราคากับผู้นำเข้า

 

ส่วนสินค้าที่ผลิตและยังขายได้ จะเป็นแบบและขนาดที่โรงงานนำเข้าสินค้าจีนไม่อยากทำ จากมีขนาดตลาดค่อนข้างเล็ก แต่สุดท้ายหากปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี เพราะถูกเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดด้านวัตถุดิบทางอ้อมเช่นกัน

 

ดังนั้นจะเริ่มเห็นภาพของอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่จะเปลี่ยนไป โดยผู้ผลิตรายเดิมๆ ประมาณสิบรายจะค่อย ๆ เลิกผลิต หรือผลิตน้อยลงๆ แต่จะมีรายใหม่ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน หรือเหล็กแผ่นรีดเย็น ต่อยอดโดยเพิ่มการเคลือบสังกะสี หรือเคลือบอื่นๆ มากขึ้น เพราะปริมาณความต้องการสินค้าจำนวนมากในกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อีกทั้งรายใหม่ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอยู่แล้ว อาจคิดว่าพวกเขาสามารถสู้กับผู้นำเข้าได้ดีกว่าผู้ผลิตรายเดิม

 

วิบากกรรม“เหล็กแผ่นเคลือบ” 6 ปีนำเข้าพุ่ง รัฐเหลว-จีนดัมพ์ราคา

 

มิติที่สอง เป็นเรื่องการใช้มาตรการทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศจนโครงสร้างราคาบิดเบี้ยว เพราะการใช้มาตรการของไทยในกลุ่มเหล็กเคลือบยังแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่เวียดนาม ส่งผลให้การบังคับใช้มาตรการทางการค้าไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ไม่เหมือนเหล็กพื้นฐานที่เป็นวัตถุดิบอย่างเหล็กแผ่นรีดร้อนหรือรีดเย็น ตรงที่มีลูกเล่นในส่วนผสมต่าง ๆ ในการเคลือบ

 

ดังนั้น เวลาเปิดใช้มาตรการทางการค้าอย่างเช่น การตอบโต้การทุ่มตลาด(A/D) ควรกำหนดขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าทดแทนในลักษณะที่เหมือนกัน(like product) เหมือนที่ประเทศอื่นทำกัน แต่การใช้มาตรการเอดีของไทยไม่ได้ครอบคลุมไปที่ขอบเขตสินค้าที่เป็น liked product เป็นเพียงการใช้มาตรการกับสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง เช่น เฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ส่งผลให้ทุกวันนี้มีสินค้าเคลือบสังกะสีและผสมอย่างอื่นอีกเล็กน้อยเช่น อลูมิเนียม หรือ แมกนีเซียม เป็นต้น หลบเลี่ยงมาตรการเข้ามาจำนวนมาก

 

ทั้งนี้แม้ใน พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดฯ จะแก้ไขให้มีการใช้มาตรการหลบเลี่ยงสินค้าที่ถูกตอบโต้การทุ่มตลาด ที่เรียกว่า Anti-circumvention หรือ A/C แต่วิธีการฟ้อง A/C ของไทยก็จะต่างจากของประเทศอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะประเด็นหลักฐาน ทำให้ตั้งแต่แก้ไขให้มีการใช้มาตรการ A/C มาแล้วหลายปี ปรากฎว่ายังไม่เคยมีการใช้มาตรการนี้ได้เลย ดังนั้นการใช้มาตรการทั้ง A/D และ A/C ในรูปแบบที่ผ่านมาจึงไม่ได้ผลกับสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และน่าจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปตราบใดที่รูปแบบวิธีการการใช้มาตรการไม่เปลี่ยน และจะเป็นตัวอย่างให้สินค้านำเข้าอื่นๆ ลอกเลียนแบบ

 

มิติที่สาม ผลกระทบต่อผู้บริโภค ในเมื่อไม่สามารถป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงมีสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่มีคุณภาพแตกต่างกันวางขายอยู่ในตลาดเดียวกัน กรรมจึงมาตกอยู่กับผู้บริโภคเพราะหากมองด้วยตาเปล่าก็บอกไม่ได้ว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดีในความหนาเท่ากัน จะรู้ก็ต่อเมื่อนำไปใช้งานแล้ว เพราะจะเป็นสนิมหรือคงทนช้าเร็วไม่เหมือนกัน

 

เรื่องนี้ผู้ผลิตในประเทศจึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศให้สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานบังคับ แต่ก็ทำได้ค่อนข้างจำกัด ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงเหล็กเคลือบสังกะสีที่ผสมตัวอื่น ๆ เข้าไปในมวลสารที่เคลือบ

 

ทุกวันนี้จึงเห็นการหลบเลี่ยงโดยการผสมสารอื่น รวมไปถึงการนำเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีที่นำเข้ามาเป็นม้วนไปใช้ในงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ในงานโครงสร้างทั่วไป โดยมีค่าความแข็งตลอดจนค่าแรงดึงที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อความปลอดภัยเป็นอันมาก ซึ่ง สมอ.คงต้องเข้ามาดูแลให้ทั่วถึง หากยิ่งช้าผู้บริโภคยิ่งเสียหาย

 

ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 66 
เมื่อถามว่าประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566ไว้อย่างไร  นายพงศ์เทพ  มองว่า เศรษฐกิจไทยคงดีขึ้นเล็กน้อย พระเอกที่เป็นปัจจัยบวกคงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 น่าจะถึง 20 ล้านคน

 

ปัจจัยบวกรองลงมาแต่น่าจับตามองได้แก่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่ส่งสัญญาณที่ดีมาจากหลาย ๆ ประเทศ ถ้ารัฐบาลเล่นเป็นจับทางถูกก็จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับปัจจัยลบจะอยู่ที่ปัญหากำลังซื้อของคนในประเทศที่หลายปีมานี้ปรากฏว่าคนไทยไม่ได้รวยขึ้น 

 

การแก้ปัญหานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายของรัฐที่ต้องบอกว่าขึ้นกับเงินในกระเป๋าของรัฐซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะลำบากเช่นกัน ส่วนความกังวลรองลงมาที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อ GDP ของไทยในปี 2566 คงให้น้ำหนักไปที่ภาคการส่งออก ที่ปลายปี 2565 เริ่มส่งสัญญาณการส่งออกที่ลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งน่าจะถดถอยในปีหน้าด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและแย่งชิงผลประโยชน์จากนโยบายภูมิรัฐศาสตร์ของแต่ละฝ่าย ทำให้ภูมิภาคอเมริกา และยุโรป ยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ การส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยจึงน่ากังวลด้วยเช่นกัน

 

รับมือกับปัจจัยลบต้องมองเชิงมหภาค
สำหรับการรับมือเพื่อแก้ปัญหาปัจจัยลบหรือความเสี่ยง ณ วันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองในเชิงมหภาคให้มาก ๆ ปัญหาความยากจนหรือรายได้ประชากรต่ำนั้น ลองไปดูข้อมูลมหภาคจะพบว่า จำนวนโครงสร้างการจ้างงานของประชากรไทยประมาณ 40% อยู่ในภาคเกษตรกรรม แต่รายได้ของภาคเกษตรกรรมกลับน้อยกว่า 10% ของ GDP ขณะที่รายได้ภาคอุตสาหกรรมกลับเริ่มลดน้อยถอยลงจาก 40% ลงมาเหลือไม่ถึง 30% ของ GDP แล้ว 

 

ตัวเลขที่กล่าวมาสะท้อนว่าเรามีความสามารถด้านเกษตรเป็นส่วนใหญ่แต่ผลผลิตอาจน้อยหรือปลูกในพืชผลที่ไม่ได้ราคาหรือใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เหมาะสม ขณะที่การถดถอยของภาคอุตสาหกรรมสะท้อนถึงการโดน disrupted จากอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมไปต่อไม่ได้ รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันที่สู้ประเทศอื่นไม่ได้ จึงมีการย้ายฐานอุตสาหกรรมออกไป 

 

ถ้าเข้าใจโครงสร้างมหภาคเหล่านี้ การเข้าไปแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนี้ในด้านจุลภาคก็จะมีทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม มีเป้าหมายและทิศทางไม่สะเปะสะปะ โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น การนำเทคโนโลยีทางชีวภาพเข้าไปยกระดับภาคการเกษตร โดยเป็นการเกษตรที่ใช้กระบวนการทำงานแบบอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มผลิตผล และเสถียรภาพ ในรูปแบบ Smart Agriculture Industry

 

นายพงศ์เทพ ย้ำตอนท้ายว่า ปี 2566 สิ่งที่น่ากังวลที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต น่าจะเป็นกฏกติกา ที่ถูกกำหนดจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่มีอำนาจ ซึ่งจะสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของพวกเขา หากผู้ผลิตไทยคิดว่ายังไงเสียก็ต้องค้าขายกับกลุ่มประเทศที่มีอำนาจอยู่ดี ก็มิอาจหลีกเลี่ยงกฏกติกา เงื่อนไขใหม่ ๆ ได้ เช่นเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

 

ดังนั้นภาคการผลิตของไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน การผลิตนับแต่นี้ต่อไปต้องคำนึงถึงการหมุนเวียนสินค้าและทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และต้องสอดคล้องกับหลักการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนตลอดไป