AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

25 มี.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 16:55 น.
2.8 k

ปี 2564 บิ๊กวงการอุตสาหกรรมเหล็กผลประกอบการดีถ้วนหน้า จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ความต้องการใช้เหล็กในการก่อสร้าง รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เพิ่มขึ้น

 

AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

 

ขณะที่เวลานี้โลกตื่นตระหนกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อและอาจทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทิศทางราคาและภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กเกิดความผันผวนอย่างไรนั้นยังต้องจับตา

 

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเคลื่อนไหวพบว่า แม้โลกยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แน่นอน แต่ธุรกิจโดยรวมยังต้องเดินหน้าต่อไป เหมือนกับที่นายชูศักดิ์ ยงวงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC มอง พร้อมเปิดใจถึงเส้นทางธุรกิจเหล็กของกลุ่ม AMC นับจากนี้

 

ชูศักดิ์  ยงวงศ์ไพบูลย์

 

กรรมการผู้จัดการ AMC ฉายภาพธุรกิจของกลุ่มว่า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 ผู้ก่อตั้งหลักได้แก่ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล และ นายวีรชัย สุธีรชัย  ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 30 ล้านบาท  ประกอบกิจการตัดเหล็กแผ่นม้วนเป็นหลัก ถึงวันนี้ธุรกิจ AMC และบริษัทในเครือ แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 กลุ่ม

 

1.ผลิตภัณฑ์ท่อ มีกำลังผลิตที่ 260,000 ตันต่อปี ในปีที่แล้วผลิตจริงอยู่ที่ 170,000 ตัน แยกเป็นท่อดำ 50% ท่อเคลือบสังกะสี 40% และท่อในวงการอุตสาหกรรมทั่วไป 10%

 

2.ศูนย์บริการเหล็ก คือ การตัดเหล็กแผ่นตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าทั้งหมดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เช่น ชั้นวางสินค้า และอื่นๆ โดยในระยะหลังมุ่งเน้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า เพราะกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนมือมาที่นักลงทุนจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสานสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้า ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น มีกำลังผลิตที่ 60,000 ตันต่อปี แต่ผลิตจริงอยู่ที่ 36,000 ตันต่อปี 

 

 

AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

 

3.บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ผลิตเหล็กม้วนหน้าแคบ มีกำลังผลิตปีละ 600,000 ตันต่อปี กลุ่มลูกค้า คือ โรงงานผู้ผลิตท่อ บริษัท พันธมิตร และ บริษัทคู่ค้า  และ 4.เหล็กม้วนเคลือบสังกะสี (ม้วน GI) ที่ลงทุนใหม่คาดว่าจะผลิตได้ในไตรมาสแรกปี 2566 กำลังผลิต 150,000 ตันต่อปี

 

  • ทุ่มพันล้านต่อยอดธุรกิจ

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนก้อนใหม่ราว 1,000 ล้านบาท โดยเฟสแรกจะใช้งบราว 750 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ลงทุนในโครงการผลิตเหล็กม้วนเคลือบสังกะสี (ม้วน GI)  ขนาดกำลังผลิต 150,000 ตันต่อปี (15,000 ตันต่อเดือน) คาดจะผลิตได้ในต้นปี 2566 สินค้าจะป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่โรงท่อ โรงรีดเมทัล ชีท (metal sheet) ตัวแทนจำหน่าย และสำหรับใช้เอง หากผลดำเนินงานในเฟสแรกประสบผลสำเร็จจะใช้งบที่เหลือลงทุนขยายกิจการในเฟสที่ 2 ต่อไป

 

AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

 

สำหรับเหตุผลในการลงทุนครั้งนี้เกิดจาก 1.ปัจจุบันท่อเหล็กเคลือบสังกะสีเป็นที่นิยมกันอย่างมาก เพราะลดขั้นตอนการทำสี และราคาก็ต่างกันไม่มาก ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว

 

2. เนื่องจาก AMC มีโรงงานผลิตเหล็กม้วนชนิดรีดร้อนหน้าแคบ ที่ผลิตในนาม บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เดอะสตีล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเซีย  เมทัล จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบัน ยังคงมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ การลงทุนโครงการนี้เป็นการต่อยอดจากกำลังการผลิตที่สามารถเพิ่มขึ้นได้

 

3.ทาง AMC เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดทำธุรกิจด้วยการตั้งโรงงานผลิตเหล็กม้วนเคลือบสังกะสี เพื่อนำมาใช้เองและจำหน่ายให้กับพันธมิตร หรือ บริษัทคู่ค้า ซึ่่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตท่อเป็นหลัก นอกนั้นเป็นกลุ่มโรงงานรีดเหล็กเมทัล ชีท และตัวแทนจำหน่าย โดยเป็นการทดแทนการนำเข้าเกือบทั้งหมด 

 

AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

 

  • รายได้โตน่าพอใจ

สำหรับผลดำเนินธุรกิจของ AMC ในปี 2565  วางเป้าหมายในปริมาณการจำหน่ายเหล็กไว้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางสถานการณ์เหล็ก และปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ผลประกอบการ หรือ ผลกำไรจากอุตสาหกรรมเหล็ก   ในภาพรวมในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะในปีที่แล้วผลกำไรจากอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมส่วนหนึ่งมาจากส่วนต่างราคาวัตถุดิบที่ขยับฐานขึ้นอย่างมากทั่วโลก

 

โดยในปีที่แล้ว (2564) บริษัทมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 7,700.21 ล้านบาท เทียบกับปี2563 บริษัทมีรายได้จากการขาย 4,704.14ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจาก 1. ผลิตภัณฑ์ท่อ 2. ศูนย์บริการเหล็ก 3.การจำหน่ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้มีทั้งเรื่องสถานการณ์ Covid-19 และยังมีเรื่องสถานการณ์สงครามยูเครนตามมาอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบในแง่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กได้

 

AMC ควักพันล้าน ลุยต่อยอดธุรกิจเหล็ก พลิก “วิกฤตยูเครน”เป็นโอกาส

 

  • อุตสาหกรรมเหล็กยังแข่งขันสูง

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การค้าเหล็กในปัจจุบันว่าการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเหล็กปลายน้ำ เนื่องจากงบการลงทุนไม่สูงนัก เช่น การตั้งโรงรีดเมทัล ชีท โรงตัดเหล็กแผ่น โรงรีดโครงสร้าง ถ้าลงทุนมากขึ้นมาอีกนิดจะเป็น โรงท่อ หรือ การตั้งร้านค้าเหล็กซื้อมาขายไป(ยี่ปั๊ว) ถือว่าธุรกิจกลุ่มนี้มีผู้ประกอบการอยู่จำนวนมาก โดยมากเป็นผู้ประกอบการไทย

 

ส่วนที่ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น คือการลงทุนเหล็กต้นน้ำหรือกลางน้ำ( เหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการลงทุน หรือน้อยกว่าที่จะเป็น เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการทุ่มตลาดของจีนเมื่อหลายปีก่อน

 

ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปในแบบตรงข้ามกัน และดูเหมือนนโยบายของจีนจะเปลี่ยนไปชัดเจน คือ ลดการผลิตอย่างมาก เลิกหรือทำลายโรงงานที่ก่อเกิดมลพิษ ยกเลิกภาษีสนับสนุนการส่งออก ดังนั้นผู้ผลิตเหล็กในไทยที่เป็นต้นน้ำและกลางน้ำเริ่มจะหายใจได้คล่องขึ้น จึงเริ่มแข่งขันได้ทั้งในเรื่อง ราคา คุณภาพ และปริมาณ

     

กรรมการผู้จัดการ AMC   มองภาพรวมด้านปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กปี 2565 ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปัญหาอาจจะไม่ใช่การขายสินค้า แต่เป็นเรื่องของการสั่งซื้อวัตถุดิบ เรื่องจัดหาแหล่งวัตถุดิบ supply อาจนำไปสู่สถานการณ์ขาดแคลน นอกจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้การขนส่งวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก สืบเนื่องมาจากสายเรือไม่เพียงพอ

 

ขณะที่เวลานี้มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเกี่ยวข้องอีก  ซึ่งในเวลาแค่ 12 วันที่เกิดสงครามยูเครน ราคาเหล็กหลายอย่างปรับราคาขึ้นไปมากกว่า 120  ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แล้ว  ดังนั้นการมองอุตสาหกรรมเหล็กในแง่ของผลกำไร ควรจะดูเป็นรายไตรมาส ไป เพราะมี cycle ที่ยาวกว่า 1 ไตรมาส  และพอจะคาดเดาได้ว่าราคาเหล็กจะยังคงผันผวนและอยู่ในระดับสูงจนถึงกลางปีนี้ค่อนข้างแน่นอน

 

ส่วนในครึ่งปีหลังต้องดูสถานการณ์สงครามจะจบเร็วขนาดไหน โดยให้ดูเรื่องมาตรการคว่ำบาตรสินค้าของประเทศรัสเซียว่าจะมีผลกระทบขนาดไหน เช่น เรื่องธุรกรรมการโอนเงิน และการขนส่งถือเป็นสาระสำคัญ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3768 วันที่ 24 – 26 มีนาคม 2565