ลุ้น กทพ. ชงครม.ไฟเขียว สร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 3.3 หมื่นล.

10 ม.ค. 2566 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 21:10 น.
594

“กทพ” เปิดซาวด์เสียงประชาชน รอบ 2 สร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท เล็งชงครม.เคาะสิ้นเดือน ม.ค.นี้ เตรียมเวนคืนที่ดินภายในปี 66-68 กระทบชาวบ้าน 850 แปลง เร่งประมูลหาผู้รับเหมาภายในปี 66 ลุยตอกเสาเข็มปี 68 เปิดบริการปี 70

นายสุรเชษฐ์  เหล่าพูลสุข  ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ระยะทาง 19.25 กม. มูลค่าโครงการฯ 33,400 ล้านบาท  แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างโครงการฯ (รวมค่าควบคุมงาน) วงเงิน 26,100 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 7,300 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบการลงทุน กทพ.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนโครงการฯทั้งหมด สัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยจะใช้เงินลงทุนจากจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) และใช้เงินกู้จากสถาบันทางการเงิน หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว กทพ.จะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาในวันที่ 11 ม.ค.นี้ หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นเดือนม.ค.66 และคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมการก่อสร้างและผู้รับเหมางานก่อสร้าง ภายในปี 66-67 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 68-70 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 70   

ลุ้น กทพ. ชงครม.ไฟเขียว สร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 3.3 หมื่นล.

“การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในตำบลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น โดยโครงการฯใช้ทางแยกต่างระดับและทางขึ้น-ลง ร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบเวนคืนที่ดินและลดความสับสนการใช้ทาง สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่าย MR-MAP ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ของกรมทางหลวง (ทล.)”    
 

ทั้งนี้โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการฯ นี้ ประกอบด้วย 1.บริษัทโชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด 2.บริษัทอินเด็กซ์  อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทไวส   โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัทเอ็นไวร์ไซน์ จำกัด โดยเริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2565-25 พฤษภาคม 2566 ระยะเวลาสัญญา 12 เดือน หรือ 360 วัน ซึ่งเป็นการทบทวนความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและการเงิน,การทบทวนและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

ลุ้น กทพ. ชงครม.ไฟเขียว สร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 3.3 หมื่นล.

รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ด้านผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการศึกษาโครงการฯ  พบว่ามีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 29,471.49 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C Ratio) 2.34  และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 19.57% ซึ่งมากกว่าอัตราที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดอยู่ที่ 12% ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) แล้วเมื่อปี 64 
 

ส่วนการโยกย้ายและการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ พบว่า มีแปลงที่ดินถูกเวนคืน จำนวน 850 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 950-2-16.4 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 190 หลัง ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะได้รับค่าทดแทนทรัพย์สินต่างๆที่สูญเสียจากการพัฒนาโครงการอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี โดยคาดว่าจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายในปี 66-68 ใช้ระยะเวลา 2 ปี  

ลุ้น กทพ. ชงครม.ไฟเขียว สร้างทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 3.3 หมื่นล.

รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าผ่านทางโครงการฯ มีการกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ  อยู่ที่  25-45 บาท รถ6-10 ล้อ มีอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่  55-85 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ มีอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 80-130 บาท โดยเก็บเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.25 บาทต่อกม.  และมีการปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตามค่าเฉลี่ยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งอัตราค่าผ่านทางของรถแต่ละประเภทจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของรถแต่ละประเภท ด้านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบปิด เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อรูปแบบของโครงการฯ ซึ่งเป็นทางพิเศษระหว่างเมือง  โดยระบบหลักที่ใช้ในการเก็บค่าผ่านทางของโครงการคือ ระบบ M-Flow หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น สามารถรองรับปริมาณรถได้ถึง 2,000-2,500 คันต่อชั่วโมงต่อช่องทาง                                                                                                 
 
ทั้งนี้แนวเส้นทางโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) มีจุดเริ่มต้นโครงการยังคงเดิมที่ กม.0+000 เชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชบริเวณด่านจตุโชติ แต่ปรับเปลี่ยนจุดสิ้นสุดโครงการจาก กม.18+900 ที่เชื่อมต่อ MR 10 สายเดียว มาเป็น กม.17+075 เชื่อมต่อทั้ง MR 10 และ M 6 ในอนาคต มีจุดขึ้น-ลง 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณจุดต่อเชื่อมวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (จตุโชติ) 2.บริเวณถนนทหัยราษฎร์ และ 3.บนถนนลำลูกกา รวมทั้งมีพื้นที่บริการทางด่วน (Rest Area) บริเวณ กม.11+400 ถึง กม.12+700