ปีแห่ง Soft Power พาณิชย์ผนึกเชฟมิชลิน ดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดพรีเมี่ยม

02 ม.ค. 2566 | 15:29 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2566 | 22:40 น.

รัฐบาลผลักดันปีแห่ง Soft Power กระทรวงพาณิชย์จับมือเชฟมิชลิน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้สู่ชุมชน ดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดพรีเมี่ยม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริม Soft Power เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้สู่ชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เผยแพร่ชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของวัตถุดิบและอาหารที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำถิ่น ผ่านการเลี้ยงรับรองผผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

ปีแห่ง Soft Power พาณิชย์ผนึกเชฟมิชลิน ดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดพรีเมี่ยม

ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากดำเนินการในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เร่งขยายตลาดสินค้าไทยแล้ว ยังให้ความสำคัญการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ซึ่งเป็นการคุ้มครองว่าสินค้าเกษตรชนิดนั้นเป็นสินค้าเฉพาะถิ่น พื้นที่อื่นไม่สามารถนำชื่อไปใช้ และเสมือนเครื่องยืนยันถึงคุณภาพสินค้าอีกด้วย จึงเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดและเพิ่มมูลค่าอย่างมาก

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดการขึ้นทะเบียน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ถึงประโยชน์ของการคุ้มครอง GI ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น จัดทำระบบควบคุมคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานของสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนสู่สินค้าระดับพรีเมี่ยมต่อไป

ขณะนี้ มีสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วทั้งหมด 195 รายการ (ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2565) แบ่งเป็น GI ไทย 177 รายการ GI ต่างประเทศ 18 รายการ  และ 6 รายการล่าสุด คือ มะม่วงเบาสงขลา (จ.สงขลา) มะม่วงน้าดอกไม้สีทองพิษณุโลก (จ.พิษณุโลก) ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี (จ.สุราษฎร์ธานี) กล้วยหอมทองพบพระ (จ.ตาก) ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา (จ.ยะลา) และปลาเม็ง สุราษฎร์ธานี (จ.สุราษฎร์ธานี)

 

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ทางกรมฯ ได้ร่วมกับ Michelin Guide ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ โดยการคัดสรรวัตถุดิบซึ่งเป็นสินค้า GI จากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ มาสร้างสรรค์ เป็นเมนูอาหารจากเชฟมิชลินสตาร์

 

โดยที่ผ่านมา จัดทำให้กับสินค้า GI แล้ว 4 สินค้าจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคา จังหวัดสกลนคร สำหรับปี 2566 นับแต่มกราคมนี้ จะต่อยอดผ่านกิจกรรม “สัมผัสสำรับ GI สุดประณีตด้วยเชฟมิชลิน” โดยการนำวัตถุดิบ GI ถึง 15 รายการ เช่น ปลากะพงสามน้ำ ทะเลสาบสงขลา ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ สับปะรดภูเก็ต มะนาวเพชรบุรี และ น้ำตาลโตนดเมืองเพชร เป็นต้น มารังสรรเป็นเมนูสุดพิเศษให้แก่ผู้มีชื่อเสียงในแวดวง GI และสื่อมวลชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพสินค้า GI ในการก้าวไปสู่เวทีสากล

 

“รัฐบาลเชื่อมั่นในโอกาสเติบโตของสินค้าเกษตรผ่านการทำการตลาดเน้นทุนทางวัฒนธรรมอาหารไทย รวมถึงสร้างการรับรู้สินค้า GI ไทยว่า เป็นของแท้และมีคุณภาพระดับพรีเมียมให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบอาชีพด้านอาหารหันมาสนใจวัตถุดิบจากสินค้า GI ท้องถิ่น นำไปสร้างสรรค์เมนูอาหารที่มีคุณภาพ เป็นการใช้ Soft Power เพื่อสร้างรายได้แก่ชาวบ้านและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจท้องถิ่น” นางสาวรัชดา กล่าว