“จุรินทร์”บุกเชียงใหม่ เปิดงานม้ง ดันขาย soft power สร้างแต้มต่อ

18 ธ.ค. 2565 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2565 | 22:56 น.
517

“จุรินทร์”บุกเชียงใหม่ เปิดงานม้ง ผลักดันขาย soft power สร้างแต้มต่อ ! เอสเอ็มอีม้ง ออกบูธต่างประเทศขายสินค้า

(18 ธ.ค. 65) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน Hmong Economic Leaders 2022 พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และนายชวภณ เจริญธนเดชากร นายกสมาคมพ่อค้าม้งไทย ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ 

“จุรินทร์”บุกเชียงใหม่ เปิดงานม้ง  ดันขาย soft power สร้างแต้มต่อ

ในงานมีผู้นำม้งองค์กรต่างๆ ประชาชนม้ง นักเรียนนักศึกษาทั่วไปเข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยการประสานงานของ ร.ท.วิศธร เถาตระกูล หรือทนายเต้ย ซึ่งมีพี่น้องชาวม้งให้การต้อนรับเป็นอย่างดีต่างดีใจและเข้ามาขอถ่ายรูปเซลฟี่ร่วมกับนายจุรินทร์เป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า โอกาสที่จะได้พบกับพวกเราพร้อมหน้าโดยเฉพาะพี่น้องชาวม้งไม่ถึงกับง่าย นอกจากเดินทางไปเยี่ยมในพื้นที่ซึ่งไปไม่ทั่ว เพราะพี่น้องชาวม้งในไทยมีเกือบ 500,000 คน กระจายกว่า 14 จังหวัดทั้งเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ ตาก ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิษณุโลก เลย กาญจนบุรี สุโขทัย และยะลา เป็นต้น 

“จุรินทร์”บุกเชียงใหม่ เปิดงานม้ง  ดันขาย soft power สร้างแต้มต่อ

เดิมพี่น้องชาวม้งประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อมาพัฒนาเป็นอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เกษตรกรรมยังถือเป็นอาชีพดั้งเดิมสืบทอดจนวันนี้ โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปลี่ยนความคิดความอ่านของพวกเราเลิกปลูกยาเสพติด หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจดำรงชีพ ผลจากอาชีพเกษตรกรรมที่ถูกต้องกลายเป็นการสร้างพัฒนาการให้ลูกหลานชาวม้งเติบโตเป็นวิศวกร สถาปนิก พ่อค้า ทหาร ผู้พิพากษา ข้าราชการ นักธุรกิจ ภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายวิชาชีพและวันนี้มี 10 ท่านที่เป็นต้นแบบความสำเร็จของพี่น้องชาวม้งช่วยถ่ายทอดเส้นทางสู่ความสำเร็จ กิจกรรม Hmong Economic Leaders 2022 วันนี้สร้างสรรค์อย่างยิ่ง ควรค่าแก่การสนับสนุน และตนยินดีช่วยสนับสนุนพวกเรา

“เศรษฐกิจเปลี่ยนไปเยอะ เราต้องรู้เท่าทันโลก เท่าทันสถานการณ์โลก ปีหน้าน่าห่วง เพราะเศรษฐกิจจะชะลอตัว ปีที่แล้ว +6% ปีนี้แนวโน้ม +3.2% และปีหน้าคาดว่า +2.7% เพราะสถานการณ์โควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่รู้จบเมื่อไหร่ และภาคการผลิตสำคัญที่ขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาได้ไม่โตอย่างที่อยากเห็น ถ้าโลกโตเราก็ได้ประโยชน์ด้วย จะขายของได้ดีขึ้น

 

แต่ไทยยังดีเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยสวนกระแสโลก ปีนี้เราบวกและปีหน้าคาดการณ์ว่าจะบวกมากกว่าปีนี้  เราต้องลงมือทำ หลายฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปีหน้า 1. การส่งออกยังเป็นหัวใจสำคัญ 2.การท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3.การลงทุนจากต่างประเทศ” 

 

และนายจุรินทร์ได้กล่าวต่อว่า สำหรับการส่งออกปีนี้ที่ตนรับผิดชอบ ปีที่แล้วทำรายได้เข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท ปีนี้แนวโน้มเพิ่มเป็น 9 ล้านล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 9.25 ล้านล้านบาท และปีนี้แนวโน้มเป็นบวกประมาณ 7% ปีหน้าแม้เศรษฐกิจโลกมีปัญหาแต่ยังเป็นบวก  การส่งออกถ้าระบายได้ดี พืชผลการเกษตรราคาก็สูงขึ้น ไม่ใช่ดีเฉพาะพ่อค้าแต่ลงลึกไปถึงเกษตรกร ให้มีเงินมาใช้พัฒนาประเทศ เหลือทำงบประมาณแผ่นดิน สร้างถนน โรงเรียนให้กับพวกเรา

 

และการท่องเที่ยวยังคงมีความสำคัญ ปีนี้นักท่องเที่ยวครบ 10,000,000 คนตามเป้าหมาย ปีหน้าแนวโน้มจะดีขึ้นทิศทางการท่องเที่ยวจากนี้ คือเร่งดึงนักท่องเที่ยวรายได้สูง และต้องขาย soft power จากอาหาร วิถีชีวิต และสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องชาวม้งเพราะเรามีฐานรากของความเป็นวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิต ชุดแต่งกายที่เป็นเรา ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น คือ soft power

 

ประเทศไทย ถือว่ามี soft power ที่เข้มแข็งเป็นลำดับที่ 6 ของเอเชีย รองจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียและสิงคโปร์ ในอาเซียนไทยเป็นที่ 2 รองจากสิงคโปร์ ไทยมีจุดขายด้านการท่องเที่ยวด้วยการขาย soft power ถ้าทำธุรกิจอย่าลืม soft power และที่ต้องพัฒนาต่อไปคือท่องเที่ยวชุมชน ทุกชุมชนมี soft power มีอัตลักษณ์ของความเป็นตัวเอง ชุมชนชาวม้งจะเป็นท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง รวมตัวในชุมชนขายการท่องเที่ยว

 

แต่อย่างไรก็ตามภาคการผลิตก็จะมีความสำคัญโดยเฉพาะกับนักธุรกิจชาวม้งที่มีพื้นฐานการเกษตร การผลิตทางการเกษตรยุคต่อไป จะเปลี่ยนไปตามบริบทการพัฒนาของโลก จะมีกฎเกณฑ์กติกามากมายเราต้องตามให้ทัน ตนเป็นประธานที่ประชุม RCEP 15 ประเทศ เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ตนนั่งเป็นประธานที่ประชุมจนเคาะลงนามได้ในอีก 2 ปีต่อมา ต่อไปไทยส่งสินค้าไปขายใน 14 ประเทศอนาคตภาษีเป็นศูนย์ จะได้เปรียบกว่าประเทศนอกสมาชิก

 

และไม่กี่วันนี้เพิ่งประชุมเอเปคและตนเป็นประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งกำลังจะพัฒนาเป็น FTA ในอนาคตมี 21 เขตเศรษฐกิจ จีดีพี 2 ใน 3 ของโลก แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันทั้ง RCEP และเอเปคคือ ต่อไปนี้ไม่ว่าจะผลิตสินค้าเกษตร ภาคบริการหรืออื่นๆ ต้องเดินหน้าไปสู่การ “สร้างความยั่งยืน” ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน และอื่นๆ ถ้าไม่ทำก็จะไม่ซื้อหรือตั้งกำแพงภาษีจนขายไม่ได้ ให้เราพัฒนาสินค้าเกษตรไปสู่ความยั่งยืนโดยใช้ “ตลาดนำการผลิต” ทั้งสองกลไกให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี เป็นเรื่องดีที่ให้ความสำคัญจะเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจเกษตร อุตสาหกรรมและการค้าของโลกต่อไป

 

“กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับธุรกิจเพื่อนชาวม้งทั้งหลายที่เป็นเอสเอ็มอี ถ้าสินค้ามีศักยภาพ ตนให้ Handicap จะมีแต้มต่อ ต่อไปนี้การแสดงสินค้าที่ประเทศใกล้เคียง ตนให้เป็นนโยบายไปแล้ว รัฐบาลให้โอกาสอย่างน้อยกระทรวงพาณิชย์และตนให้โอกาสการออกบูธต่างประเทศ เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ร่วมออกบูธกับกระทรวงได้ส่วนหนึ่ง” นายจุรินทร์กล่าว