ศึกชิงเก้าอี้ ประธาน"สทท."เดือด 3 ม.ค.นี้ รู้ผล

30 ธ.ค. 2565 | 16:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2565 | 23:09 น.
881

การเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)คนใหม่ในวันที่ 3 ม.ค. 66 ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันมากที่สุดก็ว่าได้ ท่ามกลางแรงเชียร์อย่างดุเดือดในทั้ง 2 ฝั่ง

การเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)คนใหม่ในวันที่ 3 ม.ค. 66 ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันมากที่สุดก็ว่าได้ ท่ามกลางแรงเชียร์อย่างดุเดือดในทั้ง 2 ฝั่งของผู้สมัคร 2 ราย “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” อดีตประธานสทท.ที่ลงต่ออีกสมัย และคู่ท้าชิงรายใหม่ “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”

 

โกจง ชูจุดขายตัวจริงท่องเที่ยวไทย

 

"ชำนาญ ศรีสวัสดิ์" หรือ โกจง เปิดใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า   การเลือกตั้งในครั้งนี้ผมใช้แคมเปญหาเสียงว่า “โกจง ตัวจริงท่องเที่ยวไทย” เพราะผมไม่เพียงแต่อยู่ในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมาตลอดชีวิตเท่านั้น แต่ยังทำงานในสมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ต่อเนื่อง ก่อนมานั่งเก้าอี้ประสานสทท.เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาด้วยซํ้า

 

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

 

การตัดสินใจลงชิงตำแหน่งนี้ต่ออีกสมัย ต้องการขับเคลื่อนการทำงานให้มีความต่อเนื่อง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงการเดินสายพบผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทำให้รู้ว่าสทท.ต้องมีกลยุทธอย่างไรในการขับเคลื่อน เพื่อฟื้นทางรอดท่องเที่ยวไทย

 

หัวใจหลักของการท่องเที่ยวหลังโควิด คือ “พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย ต้องพลิกฟื้นซัพพลาย ไซต์ ให้เกิดขึ้นให้ได้” ไม่งั้นการท่องเที่ยวไม่มีวันฟื้น ซึ่งการทำงานของสทท.ผมจึงไม่ได้มองแค่บริษัทใหญ่ แต่มองในภาพรวมด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องผลักดันให้รายเล็กอยู่รอดได้ นโยบายของผมจึงเน้น 4 กลยุทธ ได้แก่

 

1. เติมทุน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่อง ยากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าแหล่งเงินจากสถาบันการเงินและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ การผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่ผมจะผลักดันต่อ

2. เติมความรู้ เน้นเรื่องการรีสกิล-อัพสกิล เพราะคนการทำงานหลังโควิดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

3. เติมลูกค้า ซึ่งวันนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวกลับมาแค่ 10 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งเป็นซัพพลาย ไซต์ในธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 75% ยังยํ่าแย่อยู่ จึงต้องผลักดันการเพิ่มขึ้นของตลาดต่างชาติและการเดินทางเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง

 

 4.เติมนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีมาสร้างโอกาสในการขายให้แก่ผู้ประกอบการ

 

ขณะเดียวกันผมยังมองเรื่อง “การพัฒนาท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ” คนตัวเล็กตัวใหญ่ต้องได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ซึ่งจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการ Re-design สินค้าที่ตอบโจทย์ยุคอนาคต เช่น บางพื้นที่อาจไม่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง การสร้างแหล่งท่องเที่ยว Man-Made จึงต้องมี

 

สุดท้ายผมมองว่า “ต้องสร้างให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ” เนื่องจากการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง และสร้างจีดีพีให้ประเทศได้ถึง 20% หากมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเคาะโต๊ะ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาหรือการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวเป็นกลไกที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมากกว่าที่เป็นอยู่

 

เปลี่ยนเพื่ออนาคตการท่องเที่ยวที่ดีกว่า   

 

"ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม" เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าการตัดสินใจลงเลือกตั้งสทท.ในครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะการท่องเที่ยวไทยกำลังกลับมาเป็นตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ทำเรื่องยุทธศาสตร์ให้ชัดก็จะเป็นการเสียโอกาสในระยะยาวไป ทั้งจากประเทศคู่แข่งก็มองเหมือนเราว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ และในปีหน้าจะมีระเบิดอีกหลายลูกทั้งอาทิ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย

 

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม

 

อีกทั้งบทเรียนจากการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ทำให้ผมมองว่า การขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องใช้โมเดลเดียวกันทั้งประเทศ แต่มีหลายรูปแบบที่ทำได้ตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ และสทท.เป็นองค์กรที่มีพ.ร.บ.รองรับ จึงอยากเข้า ไปมีบทบาทเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม ให้ประเทศ ภายใต้นโยบาย “เปลี่ยนผ่านการท่องเที่ยวไทยสู่ความมั่นคง สมดุล และยั่งยืน”

 

นโยบายของผมจะมีทั้งการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในภาพรวม และนโยบายการยกระดับสทท.ให้เข้มแข็ง วันนี้รัฐบาลกำลังทบทวนปรับปรุงกม. ในภาพรวม ซึ่งกม.ในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวก็มีความล้าหลัง เป็นอุปสรรคในการเติบโตของธุรกิจทั้งอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ก็ต้อง “ผลักดันให้มีการปรับแก้ไขกม.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

 

อาทิ โรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งไม่เพียงติดขัดเรื่องการได้รับใบอนุญาตจากพ.ร.บ.โรงแรมที่ล้าหลัง ยังติด เรื่องกม.เฉพาะในแต่ละพื้นที่ด้วย ก็ต้องปรับปรุง เพราะปัจจุบันที่พักมีหลายประเภท อาทิ โฮมสเตย์ โรงแรมเล็กในชุมชน หรือแม้แต่การต่อใบอนุญาตหรือข้อกำหนดต่างๆ ของ อาชีพไกด์ ก็ไม่เหมาะสมกับต่อความต้องการของตลาดท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

 

รวมไปถึง “การจัดฐานข้อมูลท่องเที่ยวเชิงวิเคราะห์” หรือ Tourism Data Center เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งข้อมูลไม่ใช่แค่รู้อดีต แต่ต้องรู้ไป ถึงอนาคต

 

อาทิ นักท่องเที่ยวอินเดีย ก็ต้องดูได้มาเดินทางมาจากเมืองไหนเข้าไทย ซึ่งภูเก็ตทำได้แล้ว เราก็อยากขยายสเกลให้ใหญ่ทั้งประเทศ หรือเรารู้ว่าจีนจะมา แต่ไม่ใช่แค่ทางอากาศต้องมองถึงช่องทางใหม่ๆ อย่างการเดินทางเข้าไทยผ่านทางรถไฟ เป็นต้น การใช้ดิจิทัลมาใช้ต่อยอดด้านการตลาด

 

นอกจากนี้ยังเน้น “การร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวระดับโลก”  ได้แก่ UNWTO, UNESCO, Global Wellness Institute, GlobalSustainable Tourism Council และ PATA เพื่อสร้างโอกาสให้ไทย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยมีบทบาทในการท่องเที่ยวโลก

 

ส่วน“การหาแหล่งเงินช่วยเหลือและพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยว” ซึ่งไม่ใช่แค่แบงก์ แต่ผมมองว่ายังมีกอง ทุนอีกหลายช่องทาง อาทิ กองทุนของกระทรวงแรงงาน ที่ช่วยเรื่องรีสกิล อัพสเกล ภาคแรงงานท่องเที่ยวได้ กองทุนพัฒนาดิจิทัล กองทุนส่งเสริมท่องเที่ยวไทย การเน้นการสื่อสารให้ทั่วถึงและทันเหตุการณ์ เป็นต้น

 

การสร้างแหล่งเงินทุนในอนาคต เช่น ร่วมออกพันธบัตรท่องเที่ยวสีเขียว สำหรับการนำเงินทุนไปพัฒนาโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การออกพันธบัตรเพื่อสังคม เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจทอ่งเที่ยวชุมชนนำเงินทุนไปพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน