เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

19 ก.ค. 2565 | 16:43 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 03:58 น.
863

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกประยุทธ์ฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ดันท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 ปี 2565 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2566 ขณะที่นายกรับลูกสั่งการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว หาแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ภาคเอกชนท่องเที่ยวร่วม 12 สมาคม ร่วมมอบหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 ปี 2565 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล ต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วานนี้(วันที่ 18  กรกรฏาคม 2565) ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

โดยเอกชนได้เสนอข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 ปี 2565 และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล โดยในหนังสือข้อเรียกร้อง มีรายละเอียดดังนี้

 

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มสัญญาณการฟื้นตัวเป็นไปในทิศทางบวกเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่การผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลตั้งไว้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายและสถานการณ์ ความไม่แน่นอนหลายประการที่เกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์

 

การระบาดของโรคฝีดาษลิงที่กำลังลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน ทั้งยังประสบแรงกดกันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

ปี พ.ศ. 2565 ถือเป็น “จุดต่ำสุด” ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม หลังจากที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวและคาดว่าจะได้กลับมา เป็นปกติในปี พ.ศ. 2567 โดยพิจารณาจากอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเริ่มเพิ่มจำนวนกลับมา แต่อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 50

 

เช่นเดียวกันกับอัตราการโดยสารที่นั่งของผู้โดยสารตามแผนการบินขาเข้าระหว่างประเทศ (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ยังมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทาง มีอัตราที่สูงขึ้น ทั้งเกิดความยุ่งยากในการเดินทาง จนอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก และอุตสาหกรรมการบิน

ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง การปรับลดพนักงานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงาน ส่วนหนึ่งออกจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวเที่ยวและโรงแรมอย่างถาวร ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างมากทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับเชี่ยวชาญ จนไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในระยะฟื้นตัว

 

 

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นกำลังสาคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปี พ.ศ. 2562 หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้ กอปรกับเป็นการช่วยเหลือสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงรักษาธุรกิจและสามารถให้บริการอย่างมีคุณภาพในระยะฟื้นตัว

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขอเสนอมาตรการ ABC ฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉม การท่องเที่ยวไทย โดยที่มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ห่วงโซ่อุปทาน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป

 

1. มาตรการ A: Accelerate Travel & Tourism Spending เร่งรัดให้เกิดการใช้จ่าย ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในไทยเป็นระยะเวลานานขึ้น โดยพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่งคราวจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565 และขอขยายระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa และ Visa on Arrival (VOA) จาก 30 วันเป็น 45 วัน และจาก 15 วันเป็น 45 วัน ตามลำดับ นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น เป็นการเพิ่มเติมกำลังซื้อสำหรับเศรษฐกิจ ในประเทศ และยังสอดรับกับปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

 

 

2. มาตรการ B: Booster Shot กระตุ้นตลาด เพื่อหมุดหมายในการฟื้นประเทศ “เราฟื้นด้วยกัน” ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มความถี่ และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ในการเดินทางในเส้นทางการบินเดิม การเปิดเส้นทางใหม่ หรือการเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ราคาค่าโดยสารสมเหตุสมผล เพิ่มการเชื่อมโยง (Connectivity)

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

อีกทั้งยังช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองรอง ตั้งเป้าหมายในการนำความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) กลับมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ที่เคยมีในปี พ.ศ. 2562 ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ ยังจะนำผู้ประกอบการทำการตลาดเชิงรุก ผ่าน Trade Show และ Roadshow อย่างเข้มข้นในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับการทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น OTAs ส่งเสริมการขาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้

 

 

สำหรับตลาดในประเทศ มุ่งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เน้นการเพิ่มวันพักค้างและความถี่ในการเดินทาง โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และอัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและโรงแรมขนาดกลาง และขนาดย่อมที่อยู่ในระบบฐานภาษี โดยจัดส่งเสริมการตลาดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านห้อง/คืน การทำคูปองท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการสนับสนุนรถทัวร์ให้ใช้เดินทางศึกษาดูงานหรือการประชุมสัมมนา ในต่างจังหวัด

 

 

3. มาตรการ C: Cost-effective สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการบริหารต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล ลดต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยผ่อนผัน แก้ไขระเบียบ คำสั่ง และ/หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น

 

3.1 ปรับอัตราการเบิกจ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555) ซึ่งเป็นอัตราเดิมที่ต่ำมากและใช้มาเป็นเวลา 10 ปี ให้สอดคล้องกับระดับราคาที่เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านอาหารและวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่าย เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

 

3.2 ผ่อนผันการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการกรณีเดินทางเป็นหมู่คณะ ให้สามารถจ้างเหมาบริการผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้โดยตรง และอนุญาตให้ใช้ใบแจ้งหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายและใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่าย

 

3.3 อนุมัติให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับการต่อเติมหรือปรับขยายกิจการ การปรับปรุงอาคารและเฟอร์นิเจอร์ (Build-in) และการลงทุนในเรื่องนวัตกรรม เครื่องจักร และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 2 เท่า (200%) ของรายจ่ายที่จ่ายจริง

 

3.4 ขอขยายเวลาอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ (Tax Loss Carry Forward) จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี

 

3.5 ขอผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี พ.ศ. 2565 เป็นงวด โดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม รวมถึงพิจารณาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี พ.ศ. 2566 ลดหย่อนร้อยละ 75 ปี ทั้ง พ.ศ. 2567 ลดหย่อนร้อยละ 50 และปี พ.ศ. 2568 ลดหย่อนร้อยละ 25 ตามลำดับ

 

3.6 เพื่อลดภาวะแรงงานขาดแคลนในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พิจารณาสนับสนุน และผ่อนผันกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนลดขั้นตอนเพื่อรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน จนถึงปี พ.ศ. 2567 ดังนี้

 

  • ผ่อนผันให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการจดแจ้งกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ ได้แก่ แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด พนักงานล้างจ้าง คนสวน ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้าหรือบริษัทตัวแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและอนุญาตให้จดแจ้งได้ตลอดระยะเวลาของการผ่อนผัน และสามารถทำงานได้ตามสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น

 

  •  ผ่อนผันให้ปรับลดเงินได้ท้ายคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 327/2557 เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2.1 (2) ที่กาหนดคนต่างด้าวสัญชาติประเทศในทวีปเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ไต้หวัน และฮ่องกง) และทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในเขตยุโรปตะวันออก ประเทศในเขตอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโก ประเทศรัสเซีย และประเทศแอฟริกาใต้ มีรายได้ขั้นต่ำ 35,000 บาทต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน

 

  •  สนับสนุนให้มีการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะการให้บริการ ทั้ง Upskill และ Reskill ให้กับบุคลากรเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยโดยเร่งรัดจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสอนภายในโรงแรม หรือในกลุ่มโรงแรมที่รวมตัวกันได้ และมีการอบรมเพิ่มเติมสาหรับตำแหน่งขาดแคลน ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงประจำโรงแรม ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิค

 

  • จัดตลาดแรงงานในภูมิภาคเชื่อมโยงข้อมูลแรงงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตาแหน่งว่าง ส่งเสริมการจ้างงานกลุ่มแรงงานหลังเกษียณที่ยังคงมีศักยภาพพร้อมเรียนรู้ให้กลับเข้าสู่ การบริการ ตลอดจนนำผู้ประกอบการไปรับสมัครงานในแต่ละภูมิภาค

 

 

  •  ประสานหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรี ในการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ หรือบุคลากรฝีมือเพื่อตอบสนองการขาดแคลนตำแหน่งงานฝีมือในโรงแรม เช่น งานช่าง และผู้ปรุงอาหารในครัว โดยเร่งด่วน ผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย รวม 12 สมาคม จึงกราบเรียนมาเพื่อนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการเข้าพบและหารือแนวทางต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับนายกรัฐมนตรีบรรยากาศถือว่าเป็นไปด้วยดี ซึ่งนายกก็รับข้อเสนอในทุกเรื่อง  มีการพูดคุยอย่างมีเหตุมีผลที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยท่านนายกก็รับปากว่าอะไรที่พอจะทำให้ได้ก็จะทำให้ได้เลย แต่บางเรื่องก็ต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา อาทิ บูสเตอร์ ช็อต ที่สภาพัฒน์จะเข้ามาช่วยดู  ซึ่งการมาพูดคุยหารือร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ดี และร่วมกันหารือถึงทางออกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน

 

เปิด 3 มาตรการ 12 สมาคมท่องเที่ยว หารือนายกฯฟื้นเศรษฐกิจด้วยท่องเที่ยว

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทางสมาคมโรงแรมไทยได้เข้าพบและหารือกับนายกฯในครั้งนี้ ท่านก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูในทุกประเด็นที่ 12 สมาคมท่องเที่ยวได้เสนอเข้าไป อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการบูสเตอร์ช็อต ที่ให้ทางสภาพัฒน์เข้าไปช่วยดู การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องของการเปิดเที่ยวบินเข้าไทย เป็นต้น

 

 

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นำผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 12 หน่วยงานเข้าพบนายกฯในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอบคุณและยินดีที่ได้พบกับคณะผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อการกระตุ้นการทองเที่ยวในไตรมาส 3 และ 4ของปีนี้

 

“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับข้อเสนอและแนวทางดังกล่าวของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งข้อเสนอหลายอย่างอาจสามารถดำเนินการได้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องพิจาณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม เพราะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานและหลายกระทรวง รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายธนกรกล่าว

 

ทั้งยังขอให้ทุกคนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว ควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเข้มข้น รองรับการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมกันป้องกันควบคุมโรคโควิดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระยะต่อไปขึ้นอีก ให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ สามารถรถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก

 

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามทำอย่างเต็มที่ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญและรายได้หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้สั่งการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ เพื่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่อเนื่องจากที่ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนให้ปี 2565 เป็น ปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย Visit Thailand Year 2022 โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมและมีความสอดคล้องกับสถานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น จัดให้มีแผนการส่งเสริมการตลาดในประเทศกลุ่มเป้าหมาย จัดกิจกรรม Roadshow Thailand 2023 เพื่อรองรับและกระตุ้นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในอนาคต ตลอดจนแผนการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว โดยพิจารณาความพร้อมและศักยภาพของประเทศในทุกด้านควบคู่ด้วย

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำว่านอกจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังดำเนินการในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน EEC การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การพัฒนาทรัพยากรในประเทศควบคู่กับการดึงผู้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพสูงเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายในอนาคต โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าในด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหาความยากจน และการท่องเที่ยวด้วย

 

อนึ่ง 12 สมาคมท่องเที่ยวที่ยื่นหนังสือและเข้าพบนายกประยุทธ์ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมสายการบินประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สทน.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย (ATTM)