ผวาปิด LINE IDOL กระทบผู้บริโภค จี้ ดีอีเอส-พาณิชย์ คุมธุรกิจไลน์ด่วน

27 ธ.ค. 2565 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 18:04 น.
1.6 k

หวั่น LINE ประกาศปิด LINE IDOL กระทบผู้บริโภค กสทช.-สคบ. จี้ ดีอีเอส-พาณิชย์ ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปกำกับดูแล ควบคุมการประกอบธุรกิจไลน์โดยด่วน

กรณีแอปพลิเคชันชื่อดัง LINE ประกาศปิดการให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยให้ย้ายไปใช้ LINE official account หรือ LINE OA ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแทน เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของไลน์ในประเทศไทย

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ออกแถลงการณ์ คัดค้านการยุติหน่วยธุรกิจ LINE idol ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว สำนักพิมพ์ และสื่อสารมวลชนต่างๆ ภายใต้เงื่อนใขของบริษัท LINE ประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ ภายใต้จริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งตรงถึงประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าการปิดการให้บริการ LINE IDOL จะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และสื่อมวลชน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 5,000-10,000 บาทต่อเดือน เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน เพราะในราคาแพ็คเกจที่กำหนดไว้ใน LINE OA นั้นมีการจำกัดจำนวนข้อความที่ส่งไว้ หากเกินจากนั้นจะคิดค่าบริการการส่งเพิ่มเติม 

 

เช่น แพ็คเกจ 1,500 บาท จะจำกัดการส่งข้อความไว้ที่ 35,000 ข้อความ หากเกินจากนั้นจะคิด 0.04 บาทต่อหนึ่งคนที่ได้รับการส่งข้อความ(ราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)

 

จากข้อมูลดังกล่าวหากฐานเศรษฐกิจมีผู้ติดตาม 160,000 คน การส่งข้อความ 1 ครั้งจะเสียเงินอยู่ที่ข้อความละ 0.04 บาท เท่ากับ ต้องจ่ายเงินให้กับ LINE จำนวน 6,400 บาทต่อการส่ง 1 ข้อความ( 160,000 X 0.04) ถ้าฐานเศรษฐกิจส่งข่าวสารให้ผู้อ่าน 10 ข้อความต่อวันจะต้องเสียเงิน 64,000 บาทต่อวันหรือ 1,920,000 บาทต่อเดือน หรือ 23,040,000 บาทต่อปีกันเลยทีเดียว

อัตราค่าบริการ LINE Official Account

 

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส พิจารณาในเรื่องนี้ ซึ่งแอพพลิเคชั่นไลน์ กสทช.มอนิเตอร์อยู่ แต่เป็นช่วงสุญญากาศการกำกับดูแล ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้

 

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มองว่าการยกเลิกบริการ LINE IDOL ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบแน่นอน แต่เรื่องนี้มีกฎหมายของหน่วยงานหลายแห่ง ที่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ หากเกี่ยวข้องกับเรื่องราคาค่าบริการ จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ หรือถ้าเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารกระทรวงดีอีเอสต้องเข้าไปกำกับดูแล และหากมีผู้บริโภคร้องเรียนมายังสคบ. ก็พร้อมประสานงานให้ 

 

ขณะที่ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ แสดงความคิดเห็นกรณีที่ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด ปิดตัวให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 นี้ แล้วให้ลูกค้าย้ายไปใช้ LINE OA แทนโดยมีค่าใช้จ่าย ว่า ตลอดหนึ่งทศวรรษแพลตฟอร์มต่างประเทศ มีอำนาจเหนือตลาดกำหนดกลไกราคาได้ เหมือนกับที่ฟีฟ่ากำหนดราคาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก  ดังนั้นถึงเวลาที่เหล่าบรรดาเอเจนซี่ ต้องต่อรองกับแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ให้ได้

 

ปัจจุบัน LINE มีจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยมากกว่า 53 ล้านคน โดยมียอดผู้ใช้งาน LINE OA เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านราย เป็น 5 ล้านราย หรือเติบโตกว่า 1,000%