สภาอุตฯวอนรัฐทบทวนขึ้นค่าไฟ จี้เร่งเจรจาแก้พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

17 ธ.ค. 2565 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2565 | 20:02 น.

สภาอุตฯ วอนรัฐทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า พร้อมขออำนวยความสะดวก-หนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และพลังงานสะอาดอื่น ๆ จี้เร่งเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา สร้างมั่นคงพลังงาน กดค่าไฟถูกลง เรียกคืนเชื่อมั่นต่างชาติดึงลงทุนไทย

จากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. (เมื่อ 14 ธ.ค. 2565) ได้เห็นชอบในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติตามต้นทุนเชื้อเพลิง หรือค่า Ft  งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าในกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่  โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว(ระหว่าง ก่อสร้าง) คือ อุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการ จากปัจจุบันเก็บที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นอีก 0.97  สตางค์ต่อหน่วย (หรือเพิ่มขึ้นอีก 20.5%) ขณะที่ยังคงตรึงค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยไว้ที่ 4.72 บาทต่อยูนิตตามเดิม 

ทั้งนี้ กกพ.ระบุปัจจัยหลักที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติในเมียนมาตามประมาณการปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคิดค่า Ft ในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2566 และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้แก่ กฟผ. (กฟผ.แบกรับภาระค่าเอฟทีในเวลานี้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท)

 

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศได้ออกมาแสดงความผิดหวัง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อให้ภาครัฐได้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าออกไปก่อน  เพราะการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่จะสูงขึ้น และจะส่งผลให้มีการพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเฉลี่ย 5-12% ในปีหน้า จะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น

 

นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของประเทศ จากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพราะค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่นักลงทุนจะใช้ในการพิจารณาตัดสินใจในการเข้ามาลงทุน เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน เช่น เวียดนามที่ยังตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่างก็มีค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าไทย

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ในข้อเท็จจริงเพื่อยังความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อัตราค่าไฟฟ้าของไทยไม่ควรจะสูงกว่าเพื่อนบ้านเกิน 10% ซึ่งการเตรียมปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบนี้อยากขอให้ภาครัฐได้ทบทวน

 

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาในส่วนของผู้ประกอบการก็พยายามช่วยเหลือตัวเองมาตามลำดับ เช่น การใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ  ที่เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตเพื่อปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ และสอดรับกับทิศทางของโลก และทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ในบางเรื่องก็ยังไม่ได้รับความสะดวกจากกฎระเบียบของภาครัฐมากนัก เช่น หากโรงงานใดลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ (โซลาร์รูฟท็อป)ได้เกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องไปขอใบ รง. (คล้ายใบ รง. 4) จากกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้มีภาระต้นทุนเพิ่มและต้องใช้เวลาดำเนินการ

 

“อยากให้ภาครัฐปลดล็อกในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องขอใบ รง. รวมถึงขอให้ช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนให้เอกชนมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานสะอาด เพื่อทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเจรจาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนมาใช้รองรับวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงโดยเร็ว” นายเกรียงไกร กล่าว