สภาอุตฯผิดหวังรัฐปรับขึ้นค่าไฟ จับตาราคาสินค้า ขยับยกแผงรับปี 66

15 ธ.ค. 2565 | 20:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 04:12 น.
796

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตผิดหวังรัฐไม่ฟังเสียง เดินหน้าปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดมกราคม-เมษายน ปี 66 เป็น 5.69 บาทต่อหน่วย ทำต้นทุนพุ่งไม่หยุด ฉุดขีดแข่งขันประเทศนับวันต่ำลง จับตาผู้ประกอบการผลักภาระผู้บริโภค แห่ปรับราคาสินค้าปีหน้าอีก 5-12%

จากที่นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ได้ออกมาเปิดเผย (15 ธ.ค. 2565) ว่า ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ได้เห็นชอบ ราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ยังคงตรึงราคาไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย 

 

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น  ได้แก่ กิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว(ระหว่าง ก่อสร้าง) คือ อุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการ ทั้งหมดจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 20.5% (ขึ้นอีก 0.97 สตางค์ต่อหน่วย) จากงวดปัจจุบัน(กันยายน-ธันวาคม 2565)

ทั้งนี้ กกพ.ระบุปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft ในรอบนี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติในเมียนมาตามประมาณการปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคิดค่า Ft ในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2566 และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้แก่ กฟผ. (กฟผ.แบกรับภาระค่าเอฟทีในเวลานี้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท)

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีเนชั่น สาระสำคัญได้แสดงความผิดหวัง และเผยว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการในครั้งนี้ มีความกังวลจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ  ท่องเที่ยว โรงแรม ที่ต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

 

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิตมากน้อยแตกต่างกันไปก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าในการผลิตมาก ที่จะได้รับผลกระทบหนักมากในครั้งนี้ เช่น โรงหล่อ โรงแก้ว โรงผลิตซีเมนต์ โรงงานเยื่อกระดาษ อลูมิเนียม ปิโตรเคมี เป็นต้น

 

มิเตอร์ไฟฟ้า

นอกจากนี้จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) เพื่อผลิตสินค้าส่งออก เมื่อเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีการผลิตสินค้าคล้ายกับไทย แต่มีค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนสำคัญถูกกว่าไทย โดยค่าไฟฟ้าเวียดนามตรึงไว้ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ขณะค่าไฟฟ้าของไทยจะปรับขึ้นจาก 4.72 บาทต่อหน่วย เป็น 5.69 บาทต่อหน่วย ยิ่งทำให้ต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกไทยยิ่งเสียเปรียบสินค้าจากเวียดนามที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA)กับสหภาพยุโรป(อียู)

 

ทั้งนี้นอกจากสินค้าของเวียดนามที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในอียูจะมีต้นทุนต่ำกว่าไทยแล้ว ยังได้รับการยกเว้นภาษีตามข้อตกลง FTA ขณะที่ไทยยังไม่มี FTA กับอียู  สินค้าที่ส่งไปยังต้องเสียภาษีในอัตราปกติ

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

“พอมาเจอค่าไฟฟ้าปรับขึ้นอีก ต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันส่งออกเรายิ่งลดลง โดยไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะโตลดลง หมายถึงสินค้าที่ผลิตก็ต้องแย่งกันขาย ลูกค้าก็แย่งของดี ของถูก ถ้าสินค้าไทยแพงกว่าลูกค้าก็จะซื้อจากประเทศอื่นที่ถูกกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ไทยส่งออกได้ลดลง ขณะที่ข้อมูลในปี 2565 อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยหล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 33 ของโลก จากปี 2564 อยู่อันดับ 28 หรือตกลงไป 5 อันดับ ซึ่งค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นจะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างแน่นอน”

 

นอกจากนี้ที่สำคัญ จากค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภคโดยปรับขึ้นราคาสินค้า จะส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน และภาวะเงินเฟ้อของไทยยังสูงตามมา

 

ยกตัวอย่างสินค้าที่มีภาระค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุน 2% จากค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นอีก 20% อาจต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มอีก 5% ของราคาขาย ส่วนสินค้าที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้า 5-6% ของต้นทุนการผลิต อาจต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 10-12% เป็นต้น โดยภาพรวมในปี 2566 ผลพวงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ภาคการผลิตอาจจะปรับราคาสินค้าขึ้นอีกเฉลี่ย 5-12% ตามที่ส.อ.ท.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้