3 บิ๊กศิษย์เก่าวิศวะฯจุฬา ประสานเสียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องโปร่งใส

15 ธ.ค. 2565 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 22:01 น.

3 บิ๊กศิษย์เก่าวิศวะฯจุฬา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ - รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส - สารัชถ์ รัตนาวะดี ประสานเสียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้อยู่รอด ต้องโปร่งใส สร้างความยั่งยืน ปรับตัวให้ทันโลก

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “INTANIA DINNER TALK 2022” ความยั่งยืน 3 มุมมอง Survive or Sustain โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน

 

โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การขึ้นกล่าวเป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ซึ่ง 2 ครั้งแรกมาในนามนายกสมาคมฯ และ 2 ครั้งต่อ มาเป็นรองนายกฯ ซึ่งครั้งนี้น่าจะโค้งสุดท้าย เพราะใกล้ปิดสมัยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

 

พร้อมกันนี้ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ความยั่งยืน 3 มุมมอง Survive or Sustain” โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายสารัชถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ ต่างพูดถึงความยั่งยืนในธุรกิจ การมีความมั่นคงสูงต้องไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่ง กัลฟ์เองได้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีปัญหาเยอะมากเช่นกัน แต่ก็พยายามปรับตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทุกกลุ่มธุรกิจในโลกปัจจุบัน ตอนจบก็ต้องมาสู่เรื่องของความโปร่งใสและความยั่งยืน โดยนักลงทุนต่างชาติอยากมาลงทุนที่ประเทศไทย แต่มีปัญหาบางอย่างไม่เอื้ออำนวย ทั้งด้านความโปร่งใส ความรวดเร็ว 

 

“สิ่งที่พบคือ ภาครัฐยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจไทยได้เติบโตระดับโลก จึงต้องไปตั้งบริษัทในสิงคโปร์เพื่อหลีกเลี่ยงด้านภาษีจะเห็นว่าเงินทุนต่าง ๆ ไปอยู่ที่สิงคโปร์เยอะ หากรัฐบาลไทยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ให้ง่ายขึ้น ใคร ๆ ก็อยากมาลงุทนในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือการแก้กฎหมายให้ได้ก่อน ความไม่ยืดหยุ่นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กระทบต่อความสามารถในการกู้เงินในประเทศไทย”

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือความโปร่งใส ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของงบประมาณ แต่สิ่งสำคัญคือความไว้ใจ ไม่ใช่มองว่ามีแต่เรื่องใต้โต๊ะ ดังนั้น ถ้าสร้างความไว้ใจได้ก็จะเกิดความยั่งยืน จึงต้องร่วมมือสร้างความเท่าเทียมและยุติธรรม 

 

“เราทำแพลตฟอร์มร้องเรียนปัญหาเมือง ถือเป็นหัวใจและสร้างความไว้วางใจได้ดี จากคำร้องที่ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนมาช่วงแรกถึง 20,000 เรื่อง ทำให้เกิดปัญหาแพลตฟอร์มล่ม และพบว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนกว่า 1.9 แสนเรื่อง ถือว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจมองเห็นปัญหาและเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด สามารถตรวจสอบได้ว่าเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ไหน”

 

ทั้งนี้ยังพบว่า 52% ของเยาวชนไทยต้องการทำงานในต่างประเทศ ส่งผลให้ต่างประเทศแข่งกันออกวีซ่า ซึ่งหากเมืองไหนมีบทบาทสำคัญและสร้างเมืองให้น่าอยู่ก็จะดึงดูดคนได้ดีและสร้างเมืองให้คนเก่งทั่วโลกได้มาอยู่รวมกัน ขอเพียงแค่มีความโปร่งใส พยายามคิดในสิ่งใหม่ อัพเดทความเชื่อใหม่ และคิดให้ได้ก่อน จะทำให้ระบบประชาธิปไตยอยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

ขณะที่ นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับโลกสองใบ ฝั่งหนึ่งเป็นโลกที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติ จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักและการบริโภค ในขณะที่อีกฝั่งเป็นโลกที่ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐที่ทำให้ดอกเบี้ยพุ่งไปที่ 4% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ซึ่งในไทยเองมีความน่ากังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่คิดเป็นกว่า 90% ของจีดีพี รวมทั้งหนี้จากภาคการเกษตร ดังนั้น สิ่งที่คาดการณ์ไว้ คือสุดท้ายแล้วโลกทั้งสองใบจะมาบรรจบกัน แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบางที่จะฟื้นตัว ส่วนบางที่จะทรุดตัวลง ซึ่งท้ายที่สุดกลุ่มที่ฟื้นตัวจะได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน และทำให้ปีหน้า เหนื่อยแน่ ๆ 

 

นายรุ่งโรจน์ ระบุว่า บทเรียนที่ได้รับจากการเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด 3 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งที่โควิดสอน คือธุรกิจที่อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติ คือธุรกิจที่ปรับตัวเร็ว และตอนนี้ยอมรับว่าเอสซีจีกำลังเผชิญกับความท้าทายและได้รับผลกระทบอย่างมาก จากต้นทุน ทั้งพลังงานและวัตถุดิบ รวมทั้งยังเป็นช่วงวัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีที่หนักที่สุดอีกด้วย