ในงาน “SUSTAINABILITY EXPO 2022 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD” หรือ SX 2022 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทุกภาคส่วนที่ได้มาร่วมแบ่งปันแนวคิด แนวปฏิบัติและแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวบนเวทีเสวนา “CEO Panel Discussion: Leading Sustainable Business” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีใช้เวลาในการตอบคำถามว่า ทำไมต้องทำเพื่อความยั่งยืน ทำไมเลือกลงทุนกับสิ่งนี้ ท่ามกลางภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน ซึ่งมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก และความไม่แน่นอนในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องของ “ระยะเวลา” ของความผันผวน
ในแง่การลงทุน บางอย่างทำแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก แต่กลับไม่ตอบสนองด้านรายได้ หรือบางอย่างทำรายได้ดีมาก แต่ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก ในทางปฏิบัติ ทุกองค์กรเจอเหมือนกันหมด ซึ่งเอสซีจีจะต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในด้านต่าง ๆ
“สุดท้ายแล้ว จะต้องมองย้อนกลับไปที่วิสัยทัศน์ขององค์กรว่าตรงกันหรือไม่ ต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งในวิกฤติที่เรากำลังเผชิญ ถ้ามองให้ดีก็คือโอกาส โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ”
อีกหนึ่งความท้าทายในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนคือ “การพูดและทำให้ตรงกัน” ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกฝ่าย รวมถึงเอสซีจีด้วย เพราะบางครั้ง เมื่อพูดไปแล้วกลับไม่ได้ทำจริง หรือทำไปคนละทางกับที่พูดไว้
เรื่องนี้อาจแก้ได้ด้วยการตั้งเป้า วางแผน และติดตามผลให้เหมือนกับการดำเนินธุรกิจ ถ้าทุกคนพูดและทำแบบเดียวกัน เราก็ค่อนข้างสบายใจได้ว่าปัญหาโลกร้อนคงจะแก้ไขได้ สำหรับเอสซีจี แม้จะมีความท้าทายมาก แต่เราพร้อมสู้
ตัวอย่างสิ่งที่เอสซีจีกำลังดำเนินการอยู่คือ การตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยจะลดการใช้ถ่านหินลงเรื่อย ๆ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในการผลิตซีเมนต์ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและติดตามผลให้เหมือนกับการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 เอสซีจีจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 20% เมื่อบริษัทมีเป้าหมายแล้ว การวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็จะตามมาในท้ายที่สุด
คำแนะนำที่อยากบอกกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ การเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะธุรกิจมีทุนจำกัด แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ ให้มองย้อนกลับไปที่พื้นฐานในการทำธุรกิจโดยตั้งต้นจาก “ลูกค้า” สำรวจความต้องการและปัญหา (Pain Point) ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งในแง่ของสินค้า การใช้งาน และการรีไซเคิล
“การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้เข้าไปจับเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่าย และจะเป็นตัวอย่างของเคสของความสำเร็จเล็ก ๆ ภายในองค์กรของเรา และทำให้เกิดการขยายวงที่กว้างขึ้นได้”
ในงาน SX 2022 เอสซีจีได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดแสดงภายใต้คอนเซ็ปต์ “Sustainability for All” ที่ชวนทุกคนก้าวสู่ไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต ตอกย้ำความมุ่งมั่นตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) ดังนี้
นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงเป้าประสงค์นวัตกรรมของเอสซีจีว่า ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ นอกจากจะเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ปลอดภัยแล้ว ยังต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเอสซีจีและคนรุ่นใหม่หลากหลายสาขา เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และได้ร่วมดูแลโลกไปพร้อมกันในทุก ๆ วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง