สหพันธ์ขนส่งฯ ชำแหละอิทธิพลจ่ายส่วยรถบรรทุก 1.2 แสนคัน ต้นตอถนนทรุดหนัก

09 ธ.ค. 2565 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 00:18 น.

สหพันธ์ขนส่งฯ เปิดเบื้องลึกอิทธิพลจ่ายส่วยรถบรรทุก 1.2 แสนคัน กระทบต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น เกิดการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง ต้นเหตุถนนทรุดหนัก เสียค่าซ่อมอ่วม แตะแสนล้านต่อปี

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคการเมืองที่มีต่อการออกกฎหมายบังคับใช้ เพื่อพัฒนาภาคขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยที่เป็นธรรมกับประชาชนและสอดรับกับบริบทของประเทศไทยว่า ปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทยมากกว่า 30-40 ปี ด้วยในช่วงเวลานี้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ด้วยเหตุดังกล่าวการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนดจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน รวมถึงส่วยรถบรรทุกที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ

สหพันธ์ขนส่งฯ ชำแหละอิทธิพลจ่ายส่วยรถบรรทุก 1.2 แสนคัน ต้นตอถนนทรุดหนัก

ที่ผ่านมาการจ่ายส่วยรถบรรทุกจะจ่ายแบบราคาเหมา เช่น ผู้ประกอบการ 1 รายมีรถบรรทุก 20 คัน จะจ่าย 5,000-6,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันรูปแบบการจ่ายส่วยเปลี่ยนไปมากและจ่ายจำนวนเพิ่มขึ้น โดยรถ 1 คัน จ่ายประมาณ 10,000-27,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบรรทุกน้ำหนัก ขณะนี้พบว่ามีรถบรรทุกจ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน ในส่วนนี้เป็นสมาชิกสหพันธ์ขนส่งฯ ประมาณ 400,000 คัน 
 

ขณะเดียวกันการจ่ายส่วย ทำให้เกิดการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกินจนถนนและสะพานเกิดชำรุด พังเสียหายก่อนถึงอายุการใช้งาน และทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ ท้องถิ่น มากกว่าแสนล้านต่อปี 

สหพันธ์ขนส่งฯ ชำแหละอิทธิพลจ่ายส่วยรถบรรทุก 1.2 แสนคัน ต้นตอถนนทรุดหนัก

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า สหพันธ์ขนส่งฯ ได้เสนอทางออก 3 ข้อ ได้แก่ 1.เอาผิดผู้ว่าจ้างในการขนส่งสินค้า เช่น โรงโม่ ที่มีการให้เกิดบรรทุกน้ำหนักเกิน 2.ให้ ทล. ติดตั้งเครื่องประเมินน้ำหนักรถบรรทุกบนโครงข่ายทางหลวงในระยะทางกว่า 50,000 กม. ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อช่วยเข้มงวดขวดขันเรื่องกังกล่าว และ 3.ไม่ควรตั้งด่านตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุก โดยเฉพาะเส้นทางหลัก 
 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าปัญหาส่วยรถบรรทุกมีมากขึ้น และมีวิวัฒนาการเรียกเก็บเงินจากรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินแตกต่างกัน ขณะนี้รถบรรทุกเกือบทั้งหมดมีการใช้ระบบการจ่ายเงิน เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบน้ำหนัก และเสี่ยงกฎหมายจำนวนมาก ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาส่วยรถบรรทุก และสร้างความเท่าเทียมกับธุรกิจขนส่งของประเทศไทยต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ 

สหพันธ์ขนส่งฯ ชำแหละอิทธิพลจ่ายส่วยรถบรรทุก 1.2 แสนคัน ต้นตอถนนทรุดหนัก

“ขอเสนอแนวทางดังนี้ ใช้กฎหมายเอาผิดและลงโทษเจ้าของสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุกให้รถบรรทุกสินค้าชั่งน้ำหนักตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับต้องมีใบระบุน้ำหนักที่ชัดเจน ใช้ระบบอัตโนมัติ ตรวจจับน้ำหนักขณะรถบรรทุกวิ่งผ่าน โดยการติดตั้งไว้บนผิวจราจร หรือใต้สะพานจะช่วยปัญหาได้เช่นกัน ควรมีการเพิกถอนใบอนุญาตการจดทะเบียน หรือควรจะมีการพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของคนขับรถที่ขับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ส่วยรถบรรทุก จะต้องถูกลงโทษทางวินัยทุกราย” 


นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กฎหมายไทยมีช่องว่างให้เกิดทุจริตเยอะมาก สิ่งแรกต้องทำคือผู้ประกอบรถบรรทุกจะต้องไม่สมยอมในการจ่ายเงิน เพื่อให้รถของตนเองสามารถบรรทุกสินค้าเกินน้ำหนักได้ หากผู้ประกอบรถบรรทุกรู้ว่ามีการเรียกรับ ส่วยรถบรรทุกจะต้องนำเรื่องราวตีแพ่แก่สังคมให้เกิดการวิพากวิจารณ์ และเกิดการจับตามองของหลายๆ ภาคส่วน เพราะปัจจุบันนี้กระแสสังคมช่วยทำให้ปัญหาหลายอย่างคลี่คลายลง และขับเคลื่อนไปถึงกระบวนการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย