สหพันธ์ขนส่งฯหนุนโปรเจ็คเศรษฐกิจพิเศษตาก

19 พ.ค. 2559 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2559 | 17:53 น.
 

[caption id="attachment_54580" align="aligncenter" width="326"] OLYMPUS DIGITAL CAMERA ดร.ทองอยู่ คงขันธ์[/caption]

จากสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งจะมีการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่พื้นที่ อ.แม่ระมาด รองรับการเติบโตในอีก 20 ปี ข้างหน้า และดันแม่สอดเป็น Green Economy เพื่อฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแหงประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ อ.แม่สอด จ.ตาก มีความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังควบคู่ไปกับการพัฒนาคือ  1.ผังเมือง  การเติบโตอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้การขยายผังเมืองแบบไร้ทิศทาง เพราะแต่เดิมไม่ได้มีการกำหนดว่าพื้นที่นี้จะเป็นเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น การวางผังเมืองต้องสอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ (พื้นที่เป็นที่ราบสลับเนิน รวมถึงเป็นภูเขา)  มองเป้าหมายระยะยาวใน 20 – 50 ปีข้างหน้า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ การวางผังเมืองจะต้องไม่ขวางกั้นทางน้ำ  ควรจัดสร้างถนนแบบวงแหวนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก  ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ด้านอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้การเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแน่นอนว่าจะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ทั้งหนักและเบา  ระบบไฟฟ้า เมื่อมีการเติบโตของอุตสาหกรรม ไฟฟ้าจะต้องมีเพียงพอ การขยายการขนส่งทางอากาศ ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้สนามบินของที่นี่ไม่สามารถรองรับได้อย่างเต็มที่ จะต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

2.การขนส่ง : การขนส่งไปยัง อ.แม่สอด ค่อนข้างมีปัญหา ดังนั้น การให้สิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาทำธุรกิจ เช่น สิทธิพิเศษด้านภาษี  ศูนย์กลางโลจิสติกส์ หรือ Truck Terminal ที่มีมาตรฐาน และต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง  ความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมด้าน Warehouse และ Logistics ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการขนส่งไปยังประเทศเมียนม่าร์ได้อย่างสะดวก สามารถนำสินค้าไปพักเพื่อรอขนส่งข้ามแดนได้ โดยมีการควบคุมให้ชัดเจน

3.พื้นที่สีเขียว  คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและ ไม่สร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชุมชน  4.สร้างรายได้ให้ชุมชน  การมีส่วนร่วมกับชุมชน ทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น

ดร.ทองอยู่กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือ นโยบายของภาครัฐฯ และท้องถิ่นต้องไปด้วยกัน ทุกหน่วยงานที่เข้าไปมีบทบาทต้องมีมิติที่สัมพันธ์กับชุมชน พื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ ปัญหาแรงงาน ถ้าแรงงานพม่ากลับบ้านจะเอาแรงงานที่ไหนมาทดแทน การเชื่อมโยงของระบบโลจิสติกส์จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดต้นทุนของการขนส่ง เหล่านี้ต้องควบคุมจัดการให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า

“นโยบายของภาครัฐฯ จะต้องสมดุลกับเอกชน เพื่อไม่ให้การลงทุนของรัฐสูญเปล่า ใครบ้างที่มีส่วนร่วม เช่นผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ ทำอย่างไรให้มีการพัฒนาเมืองแม่สอดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลทีก็ค้างไม่มีการเดินหน้าต่อ ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน ในแง่ของภาคเอกชนมองว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เกี่ยวข้องในด้านคมนาคม ไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง และภาคเอกชนที่เป็นหน่วยงานหลักอย่างสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ต้องเข้าไปมีบทบาทร่วมกับภาครัฐฯ ซึ่งจะต้องรับฟังจากเอกชนเพื่อนำไปเป็นแผนในการบูรณาการร่วมกัน”

ด้านนายสมบูรณ์ ห้วยผัด นายกสมาคมขนส่งจังหวัดตาก กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมขนส่งจังหวัดตากมีสมาชิกประมาณ 50 ราย มีปริมาณรถรวมกันประมาณ 500 คัน จากข้อมูลของกรมศุลกากรด่านแม่สอดมีรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป วิ่งข้ามผ่านชายแดนประมาณ 200-300 คัน ต่อวัน หากโครงการนี้มีการพัฒนาอย่างจริงจังจะทำให้ปริมาณรถเพิ่มมากขึ้นอีก ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้รับเชิญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่ง “โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก” นี้จะเกิดผลดีต่อทั้งภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและชุมชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านการขนส่งค้าขายชายแดน หากแต่อุปสรรคที่ยากต่อการแก้ไขคือ เรื่องของกฎหมายการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของเชิงนโยบาย ยังไม่มีความชัดเจนตั้งแต่เปิด AEC มา ซึ่งหากมีการลงนาม MOU ร่วมกัน ก็จะเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย

สุดท้ายก็คงเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่ไปลงทุน จะต้องมีการแข่งขันกันในเชิงมาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาร่วมไปกับแผนของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอย่างแท้จริง