นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปี 66 กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment:FDI) เริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี (EEC) คาดว่าเป็นผลจากโครงการ LTR Visa ที่ใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1%
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2565 นั้น การดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการสำคัญ อาทิ
- โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 30.33 % โดยเป็นงานถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 200 ไร่ (แปลง A) และคลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 150 ไร่ (แปลง C) มีการทำ Market Sounding เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงเอกสารก่อนประกาศเชิญชวน โดยล่าสุดได้มีการประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเอกชนจะยื่นข้อเสนอมาในช่วงเดือนมิถุนายน 2566
- โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า สามารถลด GHGs ในภาพรวมอยู่ที่ 202,885 tCO2e นอกจากนี้ ในปี 2565 ยังมีการสร้างโรงงานเครือข่ายลด GHGs จำนวน 31 โรงงาน ซึ่งกนอ.สนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโรงงาน
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ โดยการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้
นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า กนอ.ยังมีการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของ กนอ.ด้วยคือ
- การขับเคลื่อน กนอ.เข้าสู่ Innovation & Digital Transformation ด้วยการยกระดับการให้บริการด้านต่างๆ ของ กนอ.ทั้ง 6 ด้านของ TSC และปรับปรุงระบบ e-PP เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและนักลงทุน/ส่งเสริมภาพลักษณ์/เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้ประกอบการและนักลงทุน/เพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับ กนอ.
- การเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart IE)
- การหาโอกาสลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (Value Added) เช่น การลงนาม MOU กับ บริษัท Korea Land and Housing Corporation หรือ LH ,การลงนามในสัญญาร่วมทุนพลังงานกับบริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อบริษัท ไพร์ม อินดัสเตรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
- โครงการนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง เพื่อเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ของ กนอ. ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเบา หรืออุตสาหกรรมบริการ
ด้านยอดขาย ปีงบประมาณ 2565 (กันยายน 2564 – ตุลาคม 2565) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1% เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดย กนอ.ได้ปรับเป้ายอดขาย/เช่าที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ภายหลังการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาชมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น