"กนอ." คว้ารับรองมาตรฐาน ISO 4 ด้าน ตั้งเป้าปี 66 ยกระดับนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง

17 พ.ย. 2565 | 11:41 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2565 | 18:41 น.

"กนอ." คว้ารับรองมาตรฐาน ISO 4 ด้าน ตั้งเป้าปี 66 ยกระดับนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง ตอบโจทย์วิสัยทัศน์นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปี 2565 กนอ.ได้รับการรับรองมาตรฐาน International Organization for Standardization : ISO จากหน่วยงานตรวจประเมินภายนอก (Certifying body) ที่ประเมินในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 

 

  • มาตรฐาน ISO 27001 Information Security Management System (ISMS) ด้านระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล (Data center ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

 

  • มาตรฐาน ISO 26000 ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility for the scope of activities described) ประเมินโดยสถาบัน WCS (Thailand) ภายใต้องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยระบบรับรองระบบงาน(IAF) 
  • มาตรฐานการจัดการอาชีว อนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 

 

  • ระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ (ISO 9001) ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

 

ทั้งนี้ กนอ.กำหนดวิสัยทัศน์ นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน จึงมุ่งมั่นบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน กนอ. ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยกระดับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

 

สำหรับมาตรฐาน ISO 26000 ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น กนอ.นำหลักการตามมาตรฐานสากลมาเป็นกรอบการดำเนินงาน และเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน รวมถึงโครงการต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

กนอ. คว้ารับรองมาตรฐาน ISO 4 ด้าน

 

ส่วนมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) เป็นโครงการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(ลำพูน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อสุขภาพจากการทำงาน
 

ขณะที่ระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ (ISO 9001) ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ กนอ.ว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของลูกค้าและนักลงทุน (Global Competitiveness Strategy) เพื่อพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถในการให้บริการ ผู้ประกอบกิจการอย่างเป็นระบบ และสร้างมาตรฐานการอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า กนอ.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 27001:2013 และระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (ฉบับปรับปรุง ปี 2565) โดยดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ กนอ.และเป้าหมายขององค์กรในการกำกับดูแลที่ดีด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล


“กนอ. มุ่งมั่นยกระดับนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานในทุกด้าน โดยตามแผนการดำเนินงานปี 2566 นั้น ตั้งเป้ายกระดับนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 10 แห่ง ก่อนที่จะดำเนินการให้ครบทุกนิคมอุตสาหกรรม ภายในปี 2567”