ม.ราชภัฏโคราช-38 เครือข่าย ลุยยกระดับท่องเที่ยว BCG สร้างรายได้ใหม่ชุมชน

07 ธ.ค. 2565 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2565 | 23:40 น.

ม.ราชภัฏโคราช นำเครือข่ายราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ลุยยกระดับเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม สร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นบนพื้นฐานเศรษฐกิจ BCG ดัน 48 ชุมชนพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่เพิ่มรายได้

รายงานข่าว (7 ธ.ค. 2565) เผยว่า เครือข่ายวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ มีสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นแกนนำ ได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรมนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green  Economy)

 

การจัดกิจกรรมครั้งนี้มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธี มี ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนักวิจัยจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.อดิศร  เนาวนนท์ อธิบการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 

สำหรับการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเครือข่ายสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ แบ่งการทำงานเป็น 7 กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา มหาวิทยาลัย    ราชภัฏกลุ่มอีสานเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มอีสานล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันตก และมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้

 

ทั้งนี้มีเป้าหมายยุทธศาสตร์และพันธกิจเดียวกันคือ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ ทำหน้าที่ในการนำความรู้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ พัฒนาและยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในแผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนพื้นฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นในปีที่ 1 และ 2

 

ม.ราชภัฏโคราช-38 เครือข่าย ลุยยกระดับท่องเที่ยว BCG  สร้างรายได้ใหม่ชุมชน

 

นอกจากนี้เพื่อพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว ของฝาก ของที่ระลึก กิจกรรมทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และช่องทางการสื่อสารการตลาดเพื่อทำให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจในระดับชุมชน ในพื้นที่ 48 ชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในประเภทต่าง ๆ ขับเคลื่อนต่อเนื่องในปีที่ 3 ผ่านโครงการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG

 

ม.ราชภัฏโคราช-38 เครือข่าย ลุยยกระดับท่องเที่ยว BCG  สร้างรายได้ใหม่ชุมชน

 

โดยจะคัดเลือกมา 7 พื้นที่ 7 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นโมเดลต้นแบบตลอดห่วงโซ่การพัฒนา และยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม(CBT-SE) โดยผลิตภัณฑ์สามารถขายได้จริงให้กับกลุ่มผู้ซื้อ/นักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างความชัดเจนในอัตลักษณ์บนศักยภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏและเชื่อมโยงภารกิจความรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภายในและภายนอก บนฐานอัตลักษณ์ชุมชนที่มีบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละภูมิภาค