นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบริหารก๊าซเรือนกระจกระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเข้าถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การลดการปลดปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย รวมทั้งตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการตระหนักถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพิ่มความได้เปรียบในด้านการค้าระหว่างประเทศ ลดข้อกีดกันทางการค้าในอนาคต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่ยอบรับในระดับสากล และยังช่วยสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมไทยและประชาคมโลก
ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการสนับสนุนทางเทคนิคและจัดให้มีแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รายงาน ทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมให้เกิดการลดและการชดเชยคาร์บอน ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรหลักในสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจหลักของกรม คือการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขยายช่องทางการค้า รวมทั้งพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อผลักดันให้ผู้ส่งออกไทยเปิดตลาดต่างประเทศ สามารถแข่งขันและรักษาตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่และเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้กรมจึงได้เร่งดำเนินการทั้งในด้านพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยสร้างผู้ประกอบการนำร่อง ที่เรียกว่า BCG Heroes และส่งเสริม SMEs รายใหม่ๆ ให้สามารถนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือ การนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการ DEsign from Waste of Agriculture and Industry พัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DEWA & DEWI) และโครงการล่าสุดนี้ คือ โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน (BCG Heroes to Low Carbon Pioneers)
“โครงการนี้ให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในวัฏจักรผลิตภัณฑ์ และไปสู่การขอรับรองคาร์บอนฟุ้ตพริ้นท์ต่อไป มุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมด้านการค้า สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ ผลการจัดกิจกรรมนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้ ได้มีตัวอย่างผู้ประกอบการ BCG Heroes 10 ราย ที่เริ่มลงมือปฏิบัติและจัดทำแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนในตัวสินค้ามาจัดแสดงในวันนี้ด้วย ซึ่งในปัจจุบัน (ปี 2565) 10 สินค้าจากทั้งสิบรายนี้ ได้ประเมินการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งปี 9,696,467 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KgCO2 e )โดยตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ภายในสิ้นปี 2566 ผู้ประกอบการทั้งสิบราย จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากเดิม เฉลี่ยร้อยละ 20 – 50 คาดว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยคาร์บอน 3,183,805 KgCO2 e ในปี 2566 จากผู้ประกอบการนำร่อง 10 ราย”
อย่างรีก็ตามกรมฯคาดหวังว่าการส่งเสริมผู้ประกอบการ BCG Heroes 50 รายในปีนี้ สร้างมูลค่าการเจรจาการค้า ผ่านกิจกรรมในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และ Online Business Matching คิดเป็นมูลค่ารวม 74.49 ล้านบาท และการส่งเสริมการค้าสินค้ากลุ่ม BCG ผ่านกิจกรรมกรม สามารถสร้างมูลค่าการเจรจาการค้ากว่า 5,000 ล้านบาท จากกิจกรรมกว่า 60 กิจกรรมและภายในปี 2567 กรมฯมีเป้าหมายในการส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกสร้างความเข้มแข็งทางการค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเครื่องมือทางการตลาด อีกทั้งสร้างผู้ประกอบการ BCG Heroes กว่า 200 ราย และผลักดันให้เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ “BCG Low Carbon Pioneers” สามารถลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 30 - 40 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง