3 รัฐมนตรี หักดิบใช้อำนาจตั้งกรรมการอ้อยฯ ดันเปิดหีบ-เคลื่อนอุตฯไปต่อ

08 ธ.ค. 2565 | 07:30 น.
3.3 k

3 รัฐมนตรีผ่าทางตัน ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ แต่งตั้งผู้แทนฝ่ายโรงงาน 7 คนร่วมเป็นกรรมการ กอน. ดันอุตสาหกรรมไปต่อ ดีเดย์เปิดหีบอ้อยทั่วประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค. สั่งคุมเข้ม PM 2.5 ใครส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานถูกหักตันละ 30 พร้อมปรับตันละ 90 บาท หากส่งยอดอ้อย-กาบใบอ้อยเข้าโรงงาน

จากที่โรงงานน้ำตาลทราย ไม่เห็นด้วยกับการนำ “กากอ้อย” อยู่ในนิยามผลพลอยได้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่ใกล้มีผลบังคับใช้ โดยต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อยเพิ่ม ส่งผลผู้แทนฝ่ายโรงงานได้ลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และคณะกรรมการบริหาร (กบ.) มีผลต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมานั้น

โรงงานน้ำตาลทราย

 

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการแต่งตั้งผู้แทนโรงงานเป็นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ชุดใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 9 และมาตรา 14 วรรคสองแห่งพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565

 

“คณะกรรมการอ้อยฯ ที่ 3 รัฐมนตรีใช้อำนาจแต่งตั้งข้างต้น มาจากกลุ่มน้ำตาลมิตรผล 3 คน กลุ่มเกษตรไทยฯ 1 คน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 1 คน กลุ่มน้ำตาลสระบุรี 1 คน และกลุ่มน้ำตาลครบุรี 1 คน ในมุมโรงงานน้ำตาล เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกลับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะต้องการเดินหน้าสู่ระบบเสรี เพื่อลดการแทรกแซงจากภาครัฐ และเพื่อแก้ปัญหาบราซิลฟ้องไทยอุดหนุนส่งออกน้ำตาลในระยะยาว”

 ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะมีการประชุมหารือเรื่องความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ 3 รัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้แทนโรงงานเข้าไปเป็นกรรมการ กอน.ที่ถือเป็นการแหกมติโรงงานน้ำตาลที่อาจนำไปสู่ความแตกแยก และขัดแย้งของสมาชิก รวมถึงจะหารือถึงการบอกยกเลิกสัญญาของโรงงานน้ำตาลจะไม่ส่งน้ำตาลทรายดิบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 8 แสนตันต่อปี เพื่อใช้ทำราคาส่งออกในปีการผลิต 2566/2567

 

ชาวไร่อ้อยกำลังเริ่มตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน รับเปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2565/2566

 

อย่างไรก็ตามในปีนี้โรงงานน้ำตาลยังส่งยังส่งน้ำตาลทรายดิบให้ อนท. อยู่เนื่องจาก อนท.ได้ทำราคาส่งออกล่วงหน้าไปแล้วกว่า 70% โดยปีนี้ราคาส่งออกบวกพรีเมียมเฉลี่ยที่ 20.12 เซนต์ต่อปอนด์ สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 18 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ในฤดูการผลิตหน้าจะใช้บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทกลางของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเข้ามาทำหน้าที่แทน อนท.

 

อย่างไรก็ดีหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการ กอน. และคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ชุดใหม่ มีผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเดินหน้า ล่าสุด กอน.มีมติเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2565/2566 ได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้น ยังรอคณะกรรมการบริหารเร่งพิจารณา

 

ขณะเดียวกันในการเปิดหีบอ้อยปีนี้ มีระเบียบคุมเข้มให้ชาวไร่อ้อยต้องปฏิบัติ คือ ต้องไม่เผาไร่อ้อยก่อนตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน เนื่องจากทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 หากรายใดเผาไร่อ้อยและส่งอ้อยเข้าโรงงานจะถูกหักค่าอ้อยตันละ 30 บาท รวมถึงหากมีการส่งอ้อยยอดยาวและอ้อยมีกาบใบเข้าโรงงาน ซึ่งจะมีผลทำให้ได้น้ำอ้อยจากการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายของโรงงานลดลง จะถูกปรับตันละ 90 บาท โดยเงินส่วนนี้โรงงานจะนำไปจ่ายชดเชยให้ชาวไร่ในรายที่ตัดอ้อยสดและคุณภาพดีเข้าโรงงานในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน

 

“เรื่องอ้อยไฟไหม้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน เพราะชาวไร่อ้อยก็ไม่อยากให้หักค่าอ้อย ขณะที่โรงงานก็กลัวจะโดนหางเลขไปด้วยหากรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน”

 

ด้าน นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) (ผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย) กล่าวว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างรอประกาศราคาอ้อยเบื้องต้น ในส่วนของโรงงานน้ำตาลทรายได้ประกาศประกันราคาอ้อยขั้นต้นไปก่อนหน้านี้แล้วที่ 1,040 บาทต่อตัน(ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรายเขตที่ สอน.จะประกาศสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ทางโรงงานจะจ่ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3842 วันที่ 8 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565