ปัญหาในเรื่องใบเคลื่อนย้ายไข่ไข่เพื่อการบริโภค กลับมาอีกแล้ว เมื่อสมาชิกฟาร์มไข่ไก่ ในแอพพลิเคชั่นไลน์ แจ้งเตือนรถส่งไข่ข้ามจังหวัด กรณีดังกล่าวนี้ต้นทางราชบุรี ปลายทางกทม. ไม่มีใบขนส่งเคลื่อนย้าย..โชคดีก็ดีไป/ดวงไม่ดีก็แจ๊กพอตแตก โดนเรียก 3,000 บาท ถ้าไม่จ่ายก็จับส่งส่วนกลาง จึงแจ้งให้ชาวขนส่งไข่ทราบทั่วกัน ตอนนี้เริ่มออกมาอาละวาดหนัก บอกไม่มีเงิน แค่จ่าย 2,000 บาท ก็เอา
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย (บังจู) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ใบเคลื่อนย้ายไข่เพื่อการบริโภคที่ออกมา ตั้งแต่ปี 2561 ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ซึ่งตอนออกมาบังคับใช้ก็บอกเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ความจริงไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากจะให้เจ้าหน้าที่รัฐจะได้มีช่องทางทำมาหากินเพิ่ม
แต่มีวิธีเดียวที่จะให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ นั่นคือการยิงอิงค์เจ็ทลงบนเปลือกไข่ ระบุ วันเดือน ปี ที่ผลิต และสถานที่ผลิต แต่จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับฟาร์ม เพราะไข่จะต้องมาจากฟาร์ม ซึ่งทางผู้ค้าก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะต้องให้ฟาร์มมารับภาระต้นทุนตรงนี้ ซึ่งมีวิธีเดียวที่จะตรวจสอบย้อนกลับได้ เพราะฉะนั้นใบเคลื่อนย้ายไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ
"ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เดินไปตลาด หยิบไข่มา 1ฟอง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ ว่าไข่ฟองนี้มาจากฟาร์มไหน ผมศึกษาจุดบอด มาตั้งแต่ปี 2561 ผ่านมาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว โดยมีข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการวิจัยจาก สำนักงานต่างๆ รวมถึงในแง่กฎหมายมีอยู่ในมือทั้งหมด"
นายสุธาศิน กล่าวว่า ย้อนเหตุการณ์การออกเอกสารมาบังคับใช้ เมื่อ 3 ตุลาคม 2561 ก็ออกมาแบบที่คนในวงการไข่ ไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้มีการพูดคุย หรือหารือ ในที่ประชุมแต่อย่างใด ส่วนการเข้าไปพูดคุยในกรม ผมไปแน่นอน โดยมีข้อเสนอแนวทางที่ 1. ให้ระงับการบังคับใช้ชั่วคราวจนกว่าจะมีพูดคุย และมีข้อพิสูจน์ว่าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริง แล้วถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริงให้ใช้คำว่า “ยกเว้น” ไข่เพื่อการบริโภค ก็คือ รวมไข่ทุกชนิดเพื่อการบริโภค อาทิ ไข่นกกระทา ไข่เป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น เนื่องจากกฎหมายนี้ควบคุมไข่ทั้งหมดเพื่อการบริโภค
แนวทางที่ 2 มาหาข้อยุติกันว่า ใบเคลื่อนย้าย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริง ผู้ค้าก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จริง ก็ต้องยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมาย โดยเติมว่ายกเว้นไข่ไก่เพื่อการบริโภค ต่อท้าย
ตรงคำจำกัดความ "ซากสัตว์" หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างกายสัตว์ที่ตายแล้ว สิ่งใดๆ ที่ได้จากสัตว์ ที่มีชีวิตหรือสัตว์ที่ตายแล้ว และให้หมายความรวมถึงอาหารสุกที่ทำ ประกอบ หรือปรุงจากซากสัตว์ หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปที่ทำจากชากสัตว์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด