“เจ้าสัวเจริญ” จ่อนำ “บิ๊กซี” รีเทิร์นตลาดหุ้น ระดมทุนกว่า 1.8 หมื่นล้าน

08 พ.ย. 2565 | 21:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 05:03 น.
1.0 k

สื่อนอกตีข่าว “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” จ่อนำ “บิ๊กซี” กลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เสนอขาย IPO ระดมทุนกว่า 1.85 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานระบุว่า แหล่งข่าวบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อของไทย ซึ่งเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังพิจารณาการเสนอขายหุ้น IPO แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งในเบื้องต้นอาจต้องระดมเงินมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18,500 ล้านบาท

 

"บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์กำลังพิจารณาจากวาณิชธนกิจเพื่อขอข้อเสนอขายหุ้น คาดอาจเกิดขึ้นในปีหน้า" บุคคลใกล้ชิดระบุ  ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดในข้อเสนอที่เป็นไปได้ เช่น มูลค่าและระยะเวลากในการระดมทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยที่ตัวแทนฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) กล่าวว่าพวกเขาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแผนการเสนอขายหุ้น IPO จนถึงขณะนี้

“เจ้าสัวเจริญ” จ่อนำ “บิ๊กซี” รีเทิร์นตลาดหุ้น ระดมทุนกว่า 1.8 หมื่นล้าน

ทั้งนี้บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีชาวไทย ได้ตกลงซื้อหุ้น 58.6% ของบิ๊กซีในราคา 3.1 พันล้านยูโร จาก Guichard Perrachon SA บริษัทค้าปลีกฝรั่งเศส ในปี 2560  

 

ปัจจุบันบิ๊กซี มีร้านสาขาในทุกแพลตฟอร์ม 1,792 แห่ง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตามการนำเสนอล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้อกิจการร้าน Kiwi Mart จำนวน 18 แห่งในกัมพูชา และวางแผนที่จะรีแบรนด์ร้านดังกล่าวเป็นร้านบิ๊กซี มินิสโตร์

 

ทั้งนี้ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2560 โดยหุ้นของ BIGC ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันสุดท้ายในวันที่ 27 ก.ย.2560

“เจ้าสัวเจริญ” จ่อนำ “บิ๊กซี” รีเทิร์นตลาดหุ้น ระดมทุนกว่า 1.8 หมื่นล้าน

การเพิกถอนหุ้น BIGC เกิดขึ้นภายหลังจากที่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) บริษัทในเครือของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ใช้เงินจำนวน 3,825 ล้านบาท ทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ BIGC จำนวน 17 ล้านหุ้น หรือ 2.06% ของทุนที่ชำระแล้วของ BIGC ในราคาหุ้นละ 225 บาท เพื่อเพิกถอนหุ้นของบิ๊กซีออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

 

ก่อนการเพิกถอนและเทนเดอร์ กลุ่มบริษัท BJC เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน BIGC จำนวน 808 ล้านหุ้น หรือ 97.94% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BIGC ประกอบด้วย บริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ถือหุ้นใน BIGC จำนวน 590 ล้านหุ้น หรือ 71% และ และบริษัท เสาวนีย์โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 218.3 ล้านหุ้น หรือ 26%

 

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2559 กลุ่มคาสิโน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BIGC ได้เข้าทำสัญญาขายหุ้น BIGC กับทีซีซี คอร์ปอเรชั่น บริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ โดยทีซีซีซี คอร์ปอเรชั่น จะซื้อและขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน BIGC จากกลุ่มคาสิโน รวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น คิดเป็นจำนวนหุ้นจำนวน 58.56% ในราคาหุ้นละ 252.88 บาท คิดเป็นเงินลงทุนราว 1.22 แสนล้านบาท ทำให้ต่อมา ทีซีซีซี คอร์ปอเรชั่น ต้องทำเทนเดอร์หุ้น BIGC ทั้งหมดในเวลาต่อมา