ครม.ไฟเขียวให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญจาก JICA

08 พ.ย. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 00:12 น.

ครม.ไฟเขียวให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญจาก JICA เดินหน้าโครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

8 พฤศจิกายน 2565 นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการให้เอกสิทธิ์ การยกเว้น และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA)ที่ดำเนินโครงการภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลญี่ปุ่น และให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฉบับดังกล่าวร่วมกับผู้ได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายญี่ปุ่น


สำหรับสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ประกอบด้วย กรณีที่ JICA ส่งทีมงานหรือผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมาดำเนินโครงการภายใต้ความตกลงฯในไทย รัฐบาลไทยจะให้เอกสิทธิ์และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานพร้อมทั้งสมาชิกครอบครัวที่พำนักอยู่ในไทย เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากเบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนที่ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการความร่วมมือทางเทคนิค และการยกเว้นภาษีศุลกากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกันให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในการนำเข้าเครื่องใช้ส่วนตัวและเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น 

นอกจากนี้จะมีการอำนวยความสะดวกทางด้านอุปกรณ์ เครื่องจักรกล และวัสดุที่ได้รับจัดสรรภายใต้ความตกลงฯ โดยหนังสือแลกเปลี่ยนจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ไทยลงนามหนังสือตอบและมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ความตกลงฯยังคงบังคับใช้

 

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ประสานเป็นการภายในว่า JICA จะสนับสนุนการดำเนินโครงการในไทย 2 โครงการ ได้แก่ 

 

โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างปี 2566-2569 ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2561 เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

อีกโครงการ คือ การดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ซึ่งไทยจะเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการและสำนักงานด้านการตอบสนอง โดยญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณ 49.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวซึ่งรวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคมายังศูนย์ฯด้วย

 

โดยญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และได้แสดงความประสงค์ให้มีการลงนามร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 25 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565