แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกสะดุด นิคมอุตฯราชทัณฑ์แห่งแรกติดผังเมืองสีเขียว

08 พ.ย. 2565 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 23:33 น.

ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตฯราชทัณฑ์ แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกแห่งแรก จ.สมุทรสาคร เนื้อที่ 4,131 ไร่ ติดปัญหาที่ดินเขตสีเขียว ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมชงสำนักงานโยธาธิการฯ เร่งพิจารณาปรับเป็นพื้นที่สีม่วง

8 พฤศจิกายน 2565 นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำและสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ได้เชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในรูปแบบร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ซึ่งมีภาคเอกชน 1 ราย เสนอโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พื้นที่ประมาณ 4,131 ไร่ ในท้องที่ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า พื้นที่ตั้งโครงการฯอยู่ในเขตผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถูกกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีเขียว และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว 

 

กนอ.จึงให้บริษัทเอกชนดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม 

 

ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าหรือเขตสีม่วง เพื่อกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครได้แจ้งว่า ได้แจ้งให้เทศบาลนครสมุทรสาครดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครเร่งการพิจารณาการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยด่วนเนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดส่งข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินการและจัดทำผังเมืองรวมให้เทศบาลนครสมุทรสาครแล้ว ประกอบด้วย 

 

1.ข้อมูลการศึกษารายละเอียดของโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร

2.ข้อมูลการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเบื้องต้น โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่

  • อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล
  • อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

3.ข้อมูลการออกแบบผังแม่บทและระบบสาธารณูปโภค