สคบ.แจงคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ หวั่นผู้บริโภคสับสน

04 พ.ย. 2565 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2565 | 23:40 น.

สคบ.แจงเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใช้รถส่วนบุคคล เป็นผู้ประกอบธุรกิจ “ทั้งแกร็บ-วินมอไซค์” ไม่อยู่ภายใต้กำกับประกาศใหม่ปี 65 เหตุสถานะสัญญาเปลี่ยน แต่รถรับจ้างหากเปลี่ยนเป็นส่วนบุคคลต้องปฎิบัติตามประกาศฉบับใหม่

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะสัญญาเช่าซื้อที่ทำตั้งแต่วันที่  10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อที่ทำก่อนวันที่ 10 มกราคม 2566 ยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา

 

ดังนั้นก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงต้องเดินสายชี้แจงถึงแนวทางปฎิบัติและตอบข้อซักถามจากเอกชน เพราะยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เป็นการรือร่วมกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (THPA) ซึ่งสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนหลักการคำนวณทางบัญชีจาก Flat rate เป็น Effective rate, การโปะภาระหนี้เช่นเดียวกับการผ่อนบ้าน ซึ่งผู้แทนสคบ.จะแถลงเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคในวันที่ 9 หรือ 10 พฤศจิกายนนี้

ส่วนกรณีเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้รถ ไม่ว่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เช่น กรณีเปลี่ยนจากใช้ส่วนบุคคลเป็นประเภทรับจ้างหรือเป็นรถสาธารณะ เช่น วินมอเตอร์ หรือแกร๊บ ผู้บริโภคจะต้องเปลี่ยนสถานะทางสัญญาเป็นผู้ประกอบธุรกิจกับกรมการขนส่ง ซึ่งจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของสคบ. ในทางกลับกัน การเช่าซื้อเพื่อใช้เป็นการสาธารณะเดิม ถ้าเปลี่ยนเป็นการใช้ส่วนบุคคล ให้ขึ้นกับดุลพินิจของสถาบันการเงินว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือไม่ ถ้าดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสัญญา แต่แม้จะไม่มีการปรับเปลี่ยนสัญญา แต่วัตถุประสงค์การใช้รถเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามประกาศของ สคบ.เช่นกัน

 

การปรับโครงสร้างหนี้ กรณีรถยนต์ใช้แล้ว การเปิดบัญชีใหม่ต้องดูว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาประกาศ สคบ. ปีใด ถ้าอยู่ในช่วงประกาศปี 2561 ซึ่งไม่มีข้อห้ามเรื่องดอกเบี้ย จะไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ถ้าอยู่ในช่วงปี 2565 ต้องมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยตามประกาศสคบ.ฉบับใหม่ โดยการทำบันทึกแนบท้ายจะอิงตามสัญญาเดิม

 

ส่วนการประมูลรถยนต์นั้น กรอบเวลาใช้สิทธิให้ผู้เช่าซื้อและผู้คํ้าประกัน 30 วัน และกรอบการมีหนังสือก่อนการประมูลอีก 15 วัน ดังนั้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน ก่อนนำรถยนต์เข้าประมูล (รวมทั้งช่องทางทางประมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย) ซึ่งสคบ.ไม่ห้าม ถ้าจะมีหนังสือกำหนดเวลาการประมูลและการใช้สิทธิในหนังสือฉบับเดียวกัน ขณะที่งานทะเบียนของกรมขนส่งทางบกยังคงเหมือนประกาศ สคบ พ.ศ. 2561 แต่จะดีมาก ถ้าสถาบันการเงินมีหนังสือยืนยันว่า ผู้คํ้าประกันมีสิทธิในการโอนรับสิทธิรถดังกล่าว

สคบ.แจงคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ หวั่นผู้บริโภคสับสน

หลังการประมูลรถ มูลหนี้ส่วนที่ขาดก่อนบอกเลิกสัญญา รวมเบี้ยปรับ 5% หรือไม่นั้น สคบ.มองว่าเบี้ยปรับคือ การที่ผู้เช่าซื้อละเมิดจากสัญญา ดังนั้น จึงเป็นสิทธิที่สถาบันการเงินมี สิทธิที่จะเรียกเก็บได้ โดยเบี้ยปรับ คือการคำนวณค่าเบี้ยปรับจากค่างวด (เงินต้น+ดอกเบี้ย) ที่ค้างชำระ X อัตราเบี้ยปรับ 5% X ระยะเวลาที่ผิดนัด

 

กรณีการขายทอดตลาดที่ต้องมีการแจ้งราคาให้ผู้เช่าซื้อ ถ้าผู้เช่าซื้อไม่เห็นด้วย สคบ.ระบุว่า การแจ้งราคาประมูลเป็นการแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลให้มีการยกเลิกการขายทอดตลาดอย่างไร ถ้าผู้เช่าซื้อเห็นว่า ราคาตํ่ากว่าราคาตลาดมากๆ ผู้เช่าซื้อก็สามารถหาคนเข้ามาร่วมการประมูลได้และการแจ้งราคานั้น ให้แจ้งแค่ครั้งแรกเท่านั้น ประมูลครั้งต่อไปไม่ต้องแจ้งอีก

 

หลังการขายทอดตลาด และสถาบันการเงินต้องนำมา คำนวณหักภาระหนี้นั้น กรณีนี้ไม่ได้รับส่วนลดตามขั้นบันได ถ้ามีส่วนขาดทุนจากการขาย (ติ่งหนี้)นั้น สถาบันการเงินยังคงห้ามเก็บดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ คงเก็บได้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น

 

การบอกเลิกตามสัญญานั้น ประกาศกำหนดเพียงแค่ค้างค่างวด 3 งวดติดต่อกันเท่านั้น ส่วนประเด็นการบอกเลิกโดยสถาบันการเงินนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงิน แต่ต้องระบุให้เด่นชัดตามประกาศกำหนด ซึ่งต้องสามารถบอกเลิกตามกฎหมายเท่านั้น

 

ขณะที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถมาโปะเหมือนสินเชื่อบ้าน แต่โปะได้อย่างเดียวคือโปะเพื่อปิดบัญชีและต้องโปะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และค่าเสียหายจากการใช้รถ หลังบอกเลิกสัญญา สคบ. มองว่า เป็นหนี้ที่พึงมีพึงได้ของสถาบันการเงิน ต้องไปดำเนินการทางศาล