ผลิตคราฟเบียร์ สุราเสรี ในไทยมีเงื่อนไขยังไง ภายใต้กฎหมายใหม่ 2565

02 พ.ย. 2565 | 02:52 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 22:49 น.
10.1 k

ผลิตคราฟเบียร์ สุราเสรี ในไทยมีเงื่อนไขยังไง ภายใต้กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่ มีผลวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นี้ ผู้ผลิตเช็ครายละเอียดได้ที่นี่ครบจบ

ชิงจังหวะปาดหน้า เคาะกฎหมายสำคัญออกมา ก่อนจะถึงการประชุมสถาผู้แทนราษฎร วันนี้ ซึ่งกำหนดเตรียมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ หลังจากคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ได้แบบฉิวเฉียด

 

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ก่อนจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทันทีในช่วงค่ำวันเดียวกัน คือ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

 

อ่านราชกิจจานุเบกษา : กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565

 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวง “ผลิตสุราเสรี” มีผลพรุ่งนี้

สำหรับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้ปลดล็อกเงื่อนไขในการผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ หรือ “คราฟเบียร์เสรี” (Craft Beer) ด้วยการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 

 

โดยสาระสำคัญของ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้มีการยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด ซึ่งเงื่อนไขนี้เรียกว่า รัฐได้แก้ไขรายละเอียดจนเกือบจะเทียบเท่า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เลยทีเดียว

 

คำถามต่อมาเมื่อกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่ต้องการผลิต “คราฟเบียร์เสรี” ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขอะไร ถึงจะสามารถเป็นผู้ผลิตได้ ฐานเศรษฐกิจขอสรุปสาระสำคัญของกฎหมายได้ดังนี้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวผลิตคราฟเบียร์ สุราเสรี ในไทย

ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า 


ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐานตามที่กำหนดในแบบคำขอต่ออธิบดี โดยผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราแช่เพื่อการค้า ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 

1. กรณีสุราแช่ชนิดเบียร์ หรือ “คราฟเบียร์” และสุราแช่ชนิดอื่น ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและต้องมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 

 

2. กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้อง มีลักษณะดังนี้

  • เป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือ
  • เป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือ
  • เป็นองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ
  • เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท จำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

 

3. กรณีสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอ 

 

ทั้งนี้ หากปรากฏว่าเคยมีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต จะขออนุญาตได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นโทษหรือวันที่ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบ แล้วแต่กรณี

 

ภาพประกอบข่าว ผลิตคราฟเบียร์ สุราเสรี ในไทย

 

ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า 

 

ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งเอกสาร หรือหลักฐานตามที่กำหนดในแบบคำขอต่ออธิบดี โดยผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยคำขอรับใบอนุญาต อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต
  • แผนที่หรือพิกัดแสดงที่ตั้งของสถานที่จะใช้ผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า
  • รายละเอียดของเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุรา ชนิดสุราที่จะผลิต ส่วนผสมหรือส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิต ขั้นตอนการผลิต และปริมาณการผลิต
  • คำยินยอมให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเข้าถึงข้อมูล

 

ทั้งนี้เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งอธิบดีมอบหมายตรวจสอบรายละเอียดในคำขอ รวมทั้งเอกสารและหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทราบ

 

ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอรับใบอนุญาตเป็นไปตามข้อกำหนด และสถานที่ที่จะผลิตสุรามีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรืออาจก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น ให้มีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทราบเป็นหนังสือ และให้มาชำระค่าธรรมเนียม

 

ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอไม่เป็นไปตามกำหนด ให้มีคำสั่งไม่อนุญาตและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทราบเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ให้ระบุเหตุผลของการไม่อนุญาตรวมทั้งแจ้งสิทธิอุทธรณ์ การยื่นอุทธรณ์ และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์ให้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทราบด้วย

 

ให้อธิบดีพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตและมีเอกสารและหลักฐานครบถ้วนแล้ว

 

หากผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราต่อเนื่องจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ