เทียบ “กฎกระทรวงผลิตสุรา” เหมือน-ต่างยังไงกับ “สุราก้าวหน้า”

01 พ.ย. 2565 | 17:36 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 22:50 น.
1.9 k

เทียบความเหมือน-ความแตกต่าง ระหว่าง “กฎกระทรวงผลิตสุรา” กับ “สุราก้าวหน้า” หลังจาก ครม. ไฟเขียวร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมาปาดหน้า ดูกันชัด ๆ แต่ละฉบับเป็นยังไง

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสามารถผลิตสุราแช่ หรือ “ผลิตเบียร์เสรี” ด้วยการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 

 

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ เหมือนหรือต่างยังไงกับ ร่างพ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ ไปเทียบกฎหมายกันชัด ๆ ที่นี่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ภาพประกอบข่าว “กฎกระทรวงผลิตสุรา” เหมือน-ต่างยังไงกับ “สุราก้าวหน้า”

สาระสำคัญระหว่าง “กฎกระทรวงผลิตสุรา” กับ “สุราก้าวหน้า

 

กรณีแรก : ลักษณะของกฎหมาย

 

กฎกระทรวงผลิตสุรา 

  • เป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับรอง ภายใต้ พระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

 

สุราก้าวหน้า 

  • เป็นการแก้ไขกฎหมายแม่ คือ พระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานเหตุผลความจำเป็นของเรื่องต่อครม. ว่า เนื่องจากในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ครม. ได้พิจารณาข้อสังเกตและผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ. ซึ่ง ครม.ขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ 

 

โดยครม.พิจารณาแล้วเห็นว่า จากสภาพปัญหา และข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิตสุราซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น สามารถ ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 หรือ การผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่อย่างใด 

 

ภาพประกอบข่าว “กฎกระทรวงผลิตสุรา” เหมือน-ต่างยังไงกับ “สุราก้าวหน้า”

กรณีที่สอง : ทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ

 

กฎกระทรวงผลิตสุรา 

  • กรณีสุราแช่ เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์คกลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51%
  • กรณีสุรากลั่น เช่น สุราขาว เพิ่ม โรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 คน จากเดิม  เป็นโรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 5 แรงม้า หรีอใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือโรงงานไซส์ S ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น

 

พร้อมยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ จากที่กำหนดกำลังผลิตต้องไมต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี เป็น เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมลรรพสามิตประกาศ แต่ยังให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำตามเดิม

 

โดยส่วนโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่น ๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาว และองค์การสุรา ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

 

อีกทั้งยังเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

 

สุราก้าวหน้า

  • ต้องไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร ทุนจดทะเบียน จำนวนพนักงาน หรือหลักเกณฑ์อื่นใด ในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้าหรือก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เว้นแต่การกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มิใช่บุคคลสัญชาติไทย

 

กรณีที่สาม : การผลิตเพื่อการค้า

 

กฎกระทรวงผลิตสุรา 

 

กำหนดคุณสมบัติต้องเป็นนิติบุคคลไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% โดยยกเลิกเรื่องข้อกำหนดทุนจดทะเบียน ขณะที่กำลังการผลิตมีเงื่อนไขสำคัญ แยกเป็น

  • กรณีที่ต้องไม่บรรจุกระป๋องหรือใส่ขวด ต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือ ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตาม กฎหมายสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข
  • กรณีโรงอุตสาหกรรม (บรรจุกระป๋องหรือใส่ขวด) ต้องเป็นโรงอุตสาหกรรมตามกฎหมายโรงงาน จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม และต้องมีเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต และ วิธีการที่สามารถติดตั้งระบบการพิมพ์ เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี

 

สุราก้าวหน้า

  • กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้าหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราเพื่อการค้าไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

ภาพประกอบข่าว “กฎกระทรวงผลิตสุรา” เหมือน-ต่างยังไงกับ “สุราก้าวหน้า”

 

กรณีที่สี่ : การผลิตที่ไม่ใช่เพื่อการค้า

 

กฎกระทรวงผลิตสุรา 

  • กำหนดให้ต้องไม่ใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือเพื่อการอื่นใดโดยได้รับประโยชย์ตอบแทน และรวมถึงผลิตสุราแช่และหรือสุรากลั่นรวมกันไม่เกิน 200 ลิตร/ปี/สถานทีทีผลิต และผู้ขออนุญาตต้องเป็นบุคคลธรรมดามีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรือเป็นนิติบุคคล ส่วนสถานที่ผลิตต้องมีพื้นที่เพียงพอ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เดือดร้อน รำคาญแก่ผู้อื่น และสุราต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่กรมฯ กำหนด

 

สุราก้าวหน้า

  • กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้าตามชนิดและปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้จดแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุรา ชนิดสุรา ขั้นตอนการผลิต และปริมาณการผลิตต่ออธิบดี ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด