โคราชได้ลุ้นนั่งรถไฟฟ้าBRTสายสีเขียวตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ

27 ต.ค. 2565 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 00:32 น.

ที่ปรึกษารฟม.จัดเวทีฟังความเห็นประชาชน เสนอผลศึกษาเปรียบเทียบเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้า 3 ระบบ สำหรับโครงการขนส่งมวลชนโคราช สายสีเขียว ชี้รถเมล์ไฟฟ้า BRT เหมาะสมสุด รองลงมาคือรถรางล้อยางรางเสมือน และรถรางล้อเหล็ก 

วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ห้องสุรนารีบอลรูม โรงแรมดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราชอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสมเกียรติ์ วิริยะกูลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นประธาน

 

ในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบ ทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเชฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลซน เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน 

โคราชได้ลุ้นนั่งรถไฟฟ้าBRTสายสีเขียวตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ

โคราชได้ลุ้นนั่งรถไฟฟ้าBRTสายสีเขียวตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ

สืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน พบว่าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา และต่อมาในปี 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค 

 

รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบ ทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และนำมาสู่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้

โคราชได้ลุ้นนั่งรถไฟฟ้าBRTสายสีเขียวตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ

 

โคราชได้ลุ้นนั่งรถไฟฟ้าBRTสายสีเขียวตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ

ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบ Steel Wheel Tramรถไฟฟ้ารางเบา หรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน (Roling Stock) 2) ระบบ Tire Tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง (Guided Light Transit) หรือระบบรางเสมือน (Track Less) และ 3) ระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) หรือรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง

 

เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบ ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองนครราชสีมา ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) ตลอดจนด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง, ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ) 

 

ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมามากที่สุด คือ ระบบ E-BRT รองลงมาคือ ระบU Tire Tram และระบบ Steel Wheel Tram ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ได้รับฟังความคิดเห็น ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป

 

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดนครราชสีมา ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก 

 

โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 21 สถานี (อยู่บนทางหลวง 9 สถานี และอยู่ในเขตเมือง 12 สถานี) ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง

 

โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณปลายทางสถานีบ้านนารีสวัสดิ์ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการฯ จะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 (แผนการดำเนินงานโครงการฯ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศ ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย