อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจง Fruit Board ยืนยันย้าย "ชลธี นุ่มหนู" ตามฤดูกาล

27 ต.ค. 2565 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2565 | 17:59 น.
858

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจง Fruit Board ยืนยันย้ายชลธี ตามฤดูกาล เหตุครบวาระ 4 ปี เผยตำแหน่งใหม่ ใหญ่ขึ้น คุมมาตรฐาน พืชผัก ผลไม้ส่งออก และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ พร้อมเปิดตัว "พิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง" บิ๊ก สวพ.6 คนใหม่

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board เมื่อวันที่ 27 ตค 65 ถึงการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6  (สวพ. เขต 6) ว่าเป็นการโยกย้ายตามฤดูกาล ที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเดือนตุลาคม จนถึงปลายปี เป็นช่วงฤดูกาลปกติของการโยกย้ายราชการ ซึ่ง นายชลธี จะครบวาระ 4 ปี การโยกย้ายจึงเป็นไปตามกฎระเบียบราชการ โดยเฉพาะตามกฎระเบียบของข้าราชการพลเรือน

 

ทั้งนี้ตำแหน่งที่กรมมีปรับย้ายนั้น เป็นการขยับขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (ผอ.กมพ) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งหลักที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตรในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน พืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ   

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจง Fruit Board ยืนยันย้าย \"ชลธี นุ่มหนู\" ตามฤดูกาล

 

" เป็นตำแหน่งที่จะเอื้อการทำงานให้นายชลธี ให้ได้มีบทบาท อำนาจ หน้าที่มากกว่าการเป็น ผอ.สวพ.เขต 6 ที่ดูแลเพียง ไม่กี่จังหวัดในภาคตะวันออกเท่านั้น  เป็นโอกาสที่จะเอาความสามารถมาเป็นลมใต้ปีกของคนในกรมวิชาการ เอาประสบการณ์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์เรื่องทุเรียนและผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก มาขยายผลถ่ายทอดการเรียนรู้ให้หน่วยงาน เพื่อนราชการ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ได้รับโอกาส ได้รับไม้ต่อ สร้างระบบให้มีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสในการทำงาน เพื่อพัฒนาการทำงานด้านส่งออกผลไม้ของประเทศให้ดียิ่งขึ้นทุกภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างผลงานขึ้นตำแหน่งรองอธิบดีได้ในอนาคต เพราะอายุราชการเหลือถึง 5 ปี" นายระพีภัทร์กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การที่นายชลธี รับราชการในจังหวัดจันทบุรีเพียงจังหวัดเดียว ตั้งแต่ ซี 1 - ซี 9 ติดต่อกัน รวมกันนานถึง 32 ปี  โดยไม่เคยมีการย้ายออกไปรับราชการนอกจังหวัดจันทบุรีเลย จึงเกิดความรัก ความผูกพันในพื้นที่มาก  แต่ทั้งนี้การแต่งตั้ง ดังกล่าวจะนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติ  หากนายชลธีนำประสบการณ์ที่ทำสำเร็จมาแล้วในเขต 6 นำไปขยายผลให้กับจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ  เพราะ ทุเรียน ลำไย มังคุด ไม่ได้มีเฉพาะจันทบุรี ระยอง และตราด เท่านั้น แต่ยังมีมากในจังหวัดอื่นๆทั้งในภาคเหนือ และภาคใต้

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจง Fruit Board ยืนยันย้าย \"ชลธี นุ่มหนู\" ตามฤดูกาล

 

ดังนั้น หากนายชลธี ผนึกกำลังร่วมกันทำงานเป็นทีม กับ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ. สวพ. เขต 6 คนใหม่ พร้อมปฎิบัติหน้าที่ใหม่ในฐานะ ผอ. กมพ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน พืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ  จะทำให้พืชผัก และผลไม้ไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่ทุเรียน ขยายศักยภาพการส่งออกได้อย่างมหาศาล และสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ 

 

และในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในเหตุสำคัญ เช่น การรับรองการออกรหัสแปลง GAP ใหม่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศในขณะนี้  การขยายการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP Plus เพื่อป้องกันโรคโควิด สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ในภูมิภาคต่างๆ และการเฝ้าระวังและป้องกันพืช ผัก ผลไม้ด้อยคุณภาพ เช่น ปัญหา ทุเรียนอ่อน รวมถึง การลงพื้นที่ให้คำแนะนำการควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าพืช ผัก และผลไม้ ทางกรมก็พร้อมอนุมัติให้ลงพื้นที่ไปปฏิราชการในพื้นที่นั้นๆได้ทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจงานหลักของ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (ผอ.กมพ) โดยตรง

นายระพีภัทร์ กล่าว เน้นย้ำ คุณภาพมาตรฐาน ผลไม้ส่งออก และไม่ควรประมาท เวียดนาม  พวกเราทำงานเป็นทีมคือ หัวใจ ของความสำเร็จ “ DOA Together”

 

พิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง

 

อนึ่ง ว่าที่ ผอ สวพ.เขต 6 ท่านใหม่ ( นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง )  มีความคุ้นเคยในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอย่างดี เนื่องจาก ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตร ณ ด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ระยะเวลากว่า 20 ปี  โดยเฉพาะปฏิบัติงานควบคุม-การตรวจรับรองการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร่วมกับ สวพ.6 และ 7

 

อีกทั้งยังทำหน้าที่วิทยากรหลักของกรมวิชาการเกษตร บรรยาย “การตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ทั้งเปลือก (ทุเรียน,มังคุด) ส่งออก ไปประเทศจีน แก่ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้”ภาคตะวันออกร่วมกับ สวพ.6 และภาคใต้ร่วมกับ สวพ.7 มาโดยตลอด  รวมถึงยังเป็นผู้ร่วมจัดทำมาตรการตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้(ทุเรียน)ส่งออกไปประเทศจีน ในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่ภาคใต้ระหว่างปี 2561-2564

 

สำหรับ การดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ได้แก่ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีหัวหน้าด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหัวหน้าด่านตรวจพืชท่าอากาศยานดอนเมืองหัวหน้าด่านตรวจพืชสะเดา จังหวัดสงขลาหัวหน้าด่านตรวจพืชอรัญประเทศ จังหวักสระแก้ว