แนะ 5 ทางรอด รัฐยื่นมือช่วย "เอสเอ็มอี" คลายวิกฤตหนี้

25 ต.ค. 2565 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 02:01 น.

ผู้เชียวชาญด้านการค้า แนะทางรอดเอสเอ็มอีไทย ภายใต้วิกฤตหนี้ ชี้แนวนโยบายที่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาช่วยเหลือ 5 เรื่อง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ

ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ของไทยกำลังเผชิญปัญหาหนี้สิน อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกำลังจะเป็นบทท้าทายใหม่ของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วิกฤตหนี้สิน

 

นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล อดีตประธานอนุกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาหนี้สิน ทำให้ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องมาจากปริมาณหนี้สะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย

ทั้งนี้โจทย์สำคัญคือ ภาครัฐในฐานะผู้ออกนโยบายจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในกับผู้ประกอบการเหล่านี้ได้อย่างไร โดยเห็นว่า แนวนโยบายที่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ SMEs มีดังนี้

 

1.การตรึงดอกเบี้ย SMEs การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือที่พวกเรารู้จักคือช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อภายในประเทศ ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการความต้องการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น (Demand-pull inflation) หากแต่เกิดจาก ต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (Cost-push inflation)

 

ดังนั้น การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การตรึงอัตราดอกเบี้ยจะสามารถลดปัญหาหนี้สะสมได้ในระยะสั้น

2.การเพิ่มมาตรการ Soft loan ให้ผู้ประกอบการ SMEs ในวงเงินทั้งหมด 1 แสนล้านบาท อายุ 3 ปี ผ่านธนาคารของรัฐ โดยให้งดเว้นดอกเบี้ย 1 ปี และใช้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 1.8% ในปีที่ 2 และ 3 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs อย่างทันท่วงที

 

3.สนับสนุนข้อมูลและจัดหาตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้าไปยังต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มรายได้ ให้กับผู้ประกอบการ

 

4.ตรึงอัตราค่าพลังงาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ  เพราะหากราคาพลังงานยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อราคาต้นทุน และราคาสินค้า

 

5.การมองหาแหล่งทุนในรูปแบบใหม่ (Alternative sources of fund) ที่มีความคล่องตัวสูงกว่า เช่น Angel investor และ venture capital หรือ แม้กระทั้ง Crowdfunding ซึ่งหน่วยงานรัฐสามารถเข้ามาเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการได้

 

นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งสร้าง Investor community ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนักลงทุนเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องปัจจุบันนักลงทุนเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หากแต่ยังขาดหน่วยงานของรัฐที่จะมาเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรม