"น้ำท่วม"ฉุดเศรษฐกิจพังยับมากกว่า 1.5 หมื่นล้าน ดันอาหารแพงกระทบประชาชน

10 ต.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 16:34 น.

"น้ำท่วม"ฉุดเศรษฐกิจพังยับมากกว่า 1.5 หมื่นล้าน ดันอาหารแพงกระทบประชาชน อนุสรณ์ ธรรมใจแนะคลัง แบงก์ชาติใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินลดเงินเฟ้อ

น้ำท่วมกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก รวมถึงเพิ่มความกังวลให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และคาดว่ากำลังจะได้รับผลกระทบ

 

นอกจากนี้ประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คงหนีไม่พ้นผลกระทบทางเศรษฐกิจ

 

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมาตรการผ่อนคลายเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด 

 

แต่ปัจจัยที่จะกดดันเงินเฟ้อ คือ ราคาพลังงานในตลาดโลก ราคาพลังงานแพงระลอกใหม่อาจทะลุ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากการลดกำลังการผลิต โอเปคพลัส 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 2% ของอุปทานน้ำมันโลก 

 

ขณะที่ "น้ำท่วม" เสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท พืชผลเกษตรและปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย อาจทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น กระทบประชาชน กดดัน SMEs และ เศรษฐกิจ จึงควรมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และ ประชาชนในพื้นที่อุทกภัย

 

ทั้งนี้ มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพดานดอกเบี้ย จำกัดวงเงินสินเชื่อของสินเชื่อบางประเภท การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนำมาสู่มาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน แม้นมาตรการเข้มงวดทางการเงินเหล่านี้จะมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินและป้องกันไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว 

รวมทั้งไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบของเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่อลูกหนี้ก็ตาม มาตรการเข้มงวดทางการเงินบางส่วนอาจไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน แต่อาจทำให้เกิดปัญหาในบางมิติเพิ่มขึ้น การกำหนดเพดานดอกเบี้ยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กำลังประกาศออกมาบังคับใช้อาจส่งผลผลักดันให้ผู้มีรายได้น้อยและมีความเสี่ยงทางการเงินสูงเข้าสู่หนี้นอกระบบมากขึ้น ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหนักกว่าหนี้ในระบบ เจ้าหนี้นอกระบบสามารถขูดรีดดอกเบี้ยได้อย่างเต็มที่ ในหลายกรณีการทวงหนี้ก็ใช้ความรุนแรง

 

อัตราดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์ใหม่เพดานไม่เกิน 10% ต่อปี รถใช้แล้ว ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี นั้นอาจทำให้สถาบันการเงินลดการปล่อยกู้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือ อาจเพิ่มจำนวนเงินดาวน์สูงขึ้นจนทำให้กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อในระบบได้ และ ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ามากและยังมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเวลามีการทวงหนี้อีกด้วย อัตราการขยายตัวของสินเชื่อหรือหนี้นอกระบบจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 

 

น้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจพังยับมากว่า 1.5 หมื่นล้าน

 

เมื่อมีประกาศคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของ สคบ. ออกมา ผู้ประกอบการทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เพดานปรับลดลงมาจากเดิมเฉลี่ยอยู่ประมาณ 30% ลงมาเหลือเพียง 23% เชื่อว่าผู้ประกอบการจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ย 10-20% และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 20% กระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้ประกอบการหรืออาชีพอิสะที่มีรายได้ไม่แน่นอน 

การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ จะกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยทั้งฝั่งผู้ปล่อยกู้หรือบริษัทสินเชื่อขนาดเล็นและนาโนไฟแนนซ์และลูกหนี้ธุรกิจขนาดย่อมหรือลูกหนี้ผู้มีรายได้น้อยทั่วไป ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rateในระบบสถาบันการเงินอาจพุ่งสูงมากกว่า 30% โดยเฉพาะสินเชื่อจักรยานยนต์ที่มีต้นทุนการดำเนินการและความเสี่ยงสูง หากยกเลิกนโยบายเปิดเสรีทางการเงินและการปล่อยดอกเบี้ยลอยตัวตามกลไกตลาด การกำหนดเพดานดอกเบี้ยต้องสอดคล้องกับภาวะตลาดจึงไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆติดตามมา

 

อย่างไรก็ดี มาตรการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ของแบงก์ชาติที่ได้ดำเนินการมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็น การห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (Prepayment fee) การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ (Debt Consolidation) นั้นว่าเป็นมาตรการที่บรรเทาปัญหาให้กับลูกหนี้ได้ดีพอสมควร ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลดลงเมื่อนำมารวมหนี้ ชำระหนี้ง่ายขึ้นและลูกหนี้ไม่เสียเครดิตไม่เสียประวัติ ลดการเป็นหนี้เสีย 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการรวมหนี้นี้ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ได้ไม่เกินมูลค่าหลักประกัน ขณะที่มาตรการคุมเพดานดอกเบี้ย เพดานค่าธรรมเนียม ลดวงเงินสินเชื่อของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของแบงก์ชาติถือว่าได้ผลในการควบคุมการก่อหนี้เกินตัวหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยในกลุ่มคนอายุน้อยได้ดี ทำให้ผู้ใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีเงินออมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาหนี้เสียหรือก่อหนี้สินเกินฐานะลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ทำให้ลูกหนี้บางส่วนหันไปใช้เงินกู้นอกระบบหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่า

 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า งานวิจัย เรื่อง “ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศ: ข้อมูลสถิติ เศรษฐมิติ และ Machine Learning” ของธนาคารแห่งประเทศไทยโดย Pim Pinitjitsamut และ วิศรุต สุวรรณประเสริฐ 2022 ได้บ่งชี้ว่า ครัวเรือนตัดสินใจก่อหนี้กู้นอกระบบทั้งที่ดอกเบี้ยแพงมากและการทวงหนี้โหดร้ายนั้นเป็นผลจากติดขัดเงื่อนไขของสถาบันการเงินในระบบ และ มักเกิดจากความจำเป็นเร่งด่วน และครัวเรือนเหล่านี้มักมีรายได้ไม่แน่นอน 

 

จากการทำสำรวจโดยการลงพื้นที่สัมภาษณ์โดยตรงมากกว่า 4,800 ครัวเรือนในพื้นที่ 12 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ อัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ราว 30-31% (เป็นเจ้าหนี้นอกระบบนอกพื้นที่และแก็งหมวกกันน็อค) กลุ่มที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเป็นสัดส่วนสูงที่สุด คือ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สะท้อนว่า สวัสดิการผู้สูงวัยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ค่ามัธยฐานของมูลค่าหนี้อยู่ที่ 11,000-20,000 บาทต่อคน มีข้อน่าสังเกตจากงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และมูลค่าหนี้นอกระบบไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป 

 

ซึ่งอาจมาจากปัจจัยความสามารถในการใช้คืนหนี้นอกระบบโดยผู้ที่มีรายได้น้อยจะกู้ได้ไม่มากเพราะไม่มีความสามารถจะหารายได้มาใช้หนี้ ขณะที่ผู้มีรายได้สูงสามารถกู้หนี้นอกระบบได้ในวงเงินที่มากขึ้นแต่มีความจำเป็นในการกู้เงินน้อย การกู้ยืมเงินนอกระบบสามารถแบ่งสาเหตุของการกู้ยืมออกเป็น สี่สาเหตุ คือ หนึ่ง การลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ สอง ค่าใช้จ่ายจำเป็น สาม ชำระหนี้เก่า สี่ ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นเกินฐานะ 

 

การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพและใช้จ่ายที่จำเป็นคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้าประกอบกิจการขนาดย่อม สัดส่วนการกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายไม่จำเป็นมีสัดส่วนที่ต่ำมาก โดยกลุ่มผู้อายุน้อย 20-24 ปี มีสัดส่วนสูงที่สุดก็มีเพียง 16% และ อายุ 25-29 ปี อยู่ที่ 6% ที่กู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 

จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบในไทย ไม่ใช่ ปัญหาการขาดวินัยทางการเงินที่จะแก้ด้วยมาตรการเข้มงวดทางการเงิน แต่ต้องแก้ด้วยการทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเต็มศักยภาพ รายได้มวลรวมสูงขึ้น คนมีงานทำมีรายได้สูงขึ้น และ รายได้และผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีฐานะยากจน 

 

นอกจากนี้ ต้องทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพื่อการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น ทั่วถึงขึ้น การพัฒนาระบบการเงินและปล่อยสินเชื่อระดับย่อยและระดับไมโครหรือระดับนาโน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปลงทุนประกอบอาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ 

 

และควรพัฒนาระบบที่ครัวเรือนสามารถนำเอาสวัสดิการในอนาคตมาใช้เป็นหลักค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อในระบบเพื่อการประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหา ครัวเรือน หรือ บุคคล ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน หรือ ต้องการสินเชื่อ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ต้นทุนการปล่อยหรือบริหารจัดการสินเชื่อถูกลง