เติมทักษะการเงิน “Financial Literacy” แรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติเมียนมา

17 ต.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 18:35 น.

สคช.- IOM ร่วมกับ Homenet นำร่องครั้งแรก…เติมทักษะด้านความรู้ทางด้านการเงิน “Financial Literacy” กลุ่มแรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติพม่า เพื่อการจัดการเงินที่ยั่งยืน

นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการอบรม “Financial Literacy”  ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ Homenet เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติ อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper)  ให้มีความรู้ และทักษะด้านการบริหารทางด้านการเงิน

เติมทักษะการเงิน “Financial Literacy” แรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติเมียนมา

โดยมี คุณสุทธิคุณ ศิริอนันต์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ พร้อมด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและโดยมี ดร.บุญสม น้ำสมบูรณ์ จาก Homenet และผู้แทนจาก IOM เข้าร่วมงาน

 

นายพิริยพงศ์ กล่าวถึงวการจัดอบรมวันนี้ว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในการพัฒนาทักษะแรงงานข้ามชาติด้านความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy)

เติมทักษะการเงิน “Financial Literacy” แรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติเมียนมา

ซึ่งนับว่าเป็นการนำร่องสำหรับกลุ่มอาชีพแม่บ้านสัญชาติพม่าให้ได้รับทักษะทางด้านการเงิน ในด้านการสำรวจค่าใช้จ่ายตนเอง การบริหารออมเงินการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การชำระหนี้นายหน้าอย่างถูกวิธี

 

และช่องทางส่งเงินกลับต่างประเทศ  นับว่าเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ 

โดยมีกลุ่มแรงงานอาชีพแม่บ้านสัญชาติพม่า จำนวน 50 คน ได้เข้ารับการอบรมโดยความร่วมมือกับ มูลนิธิเพื่อพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) มีการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับแรงงานข้ามชาติในหลากหลายมิติ โดยคุณสุทธิคุณ ศิริอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการทางการเงิน (Financial Literacy) มีการทดสอบความรู้เบื้องต้น (Pre-Test) ก่อนการอบรม  การตรวจสุขภาพทางการเงินของแต่ละคนว่ามีสุขภาพทางการเงินอย่างไร ในระดับอ่อนแอ ระดับปานกลางหรือระดับดีมาก

เติมทักษะการเงิน “Financial Literacy” แรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติเมียนมา

เพื่อสามารถรู้ว่าควรจะบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลได้อย่างไร โดยพฤติกรรมในการใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ ใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รวมถึงการใช้จ่ายในด้านการเสี่ยงโชค และของใช้ส่วนบุคคล แหล่งที่แรงงานข้ามชาติไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านขายของชำ ตลาดสด และตลาดนัด

 

การจัดการอบรมมีการ Workshop ด้านการวางแผนทางการเงินระยะ 1 ปี 3 ปี หรือระยะยาว 5 ปี โดยปรับเปลี่ยนตามศักยภาพทางการเงินของแต่ละคน และเน้นในด้านการออมเงิน ที่จะต้องมีสัดส่วนการออมเงิน 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน เป็นหนี้ต่อเดือน 1 ใน 3 เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการให้แต่ละคนวางแผนทางการเงิน (Financial Planning) เพื่อจะได้รู้ว่าส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 

ทั้งยังมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้สามารถออมเงินได้ตามที่ต้องการ เช่น การวางแผนเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ  เก็บเงินไว้ซื้อทอง  เก็บไว้ให้ลูก หรือซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้วิทยากรยังได้สอดแทรก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 

เติมทักษะการเงิน “Financial Literacy” แรงงานข้ามชาติแม่บ้านสัญชาติเมียนมา

ทั้งนี้ผู้เข้าอบรมยังได้ทำแบบทดสอบหลังจากการอบรม และได้รับใบวุฒิบัตรการอบรม โดยช่วงท้ายได้มีการสอบถามความรู้สึกของผู้เข้าอบรมแต่ละคน โดยรวมมีความรู้สึกขอบคุณคณะวิทยากร และผู้จัดการอบรมครั้งนี้ ที่ให้ความรู้ทางด้านการเงินอย่างถูกต้อง สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มแม่บ้านได้เข้าอบรมความรู้ทางด้านการเงิน และทุกคนอยากให้มีการอบรมแบบนี้ในรุ่นต่อๆ ไปอีก

 

โครงการความร่วมมือนี้ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการบรรเทาความยากจนผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ปกติของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย (Poverty reduction through Safe Migration, Skill Development and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE))

 

เน้นการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายต่อไป โดยโครงการได้รับการสนับสนุน ด้านงบประมาณจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงแรงงานย้ายถิ่นและการลดความยากจนในประเทศไทย การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความสามารถในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เป็นมืออาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง