"สมาคมเพื่อนชุมชน" ขยายผลธรรมศาสตร์โมเดลฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

12 ต.ค. 2565 | 19:40 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2565 | 02:40 น.

"สมาคมเพื่อนชุมชน" ขยายผลธรรมศาสตร์โมเดลฟื้นเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเพิ่มเครือข่ายวิสาหกิจเข้มแข็ง รับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม

นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด19   ไม่เพียงทำให้การใช้ชีวิตของคนไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่(New Normal)  แต่ภาคธุรกิจแม้แต่วิสาหกิจชุมชนต่างก็ต้องปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ และบริการให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก (mega trends)  ที่มีการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยี มากขึ้นในชีวิตประจำวัน เห็นได้จากช่องทางการทำตลาด ขายสินค้าออนไลน์ใหม่ ๆที่ผุดขึ้นให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

 

การปรับตัววิสาหกิจชุมชนที่จะก้าวผ่านไปสู่ความเข้มแข็งนั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ และต้องมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยเสริมทัพในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง  จุดเปลี่ยนวิสาหกิจในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เด่นชัดผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย โดยต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่น  ทำการตลาดในช่องทางใหม่ๆเกิดขึ้น สามารถสร้างเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

การยกระดับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ผ่านการดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชนหรือ CPA ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 5 ผู้ประกอบการพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี กลุ่มบริษัทดาวประเทศไทย และ จีพีเอสซี  และกลุ่มสมาชิกสมทบอีก 17 กลุ่ม  ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีดำเนินโครงการธรรมศาสตร์โมเดลมาพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ตามบริบทของแต่ละชุมชนโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2565 ส่งผลให้มี40วิสาหกิจชุมชนเป็นเครือข่าย สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนในพื้นที่และกลายเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนที่มีประสิทธิภาพในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ

 
สำหรับรูปแบบการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม  เป็นการทำงานร่วมกับนักศึกษา โดยมีสมาคมเพื่อนชุมชนเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเข้าไปทำการวิจัย  หาจุดแข็งและจุดอ่อน  นำไปสู่การยกระดับศักยภาพ ทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า และการบริการ สร้างรายได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง  โดยได้ดำเนินการมาถึง 7 รุ่นในปัจจุบัน

 

สมาคมเพื่อนชุมชนขยายผลธรรมศาสตร์โมเดลฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

ปัจจุบันได้เดินหน้าสู่โครงการธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 7  เพื่อขยายผลสร้างเครือข่ายส่งเสริม 9 วิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้จากคนรุ่นใหม่ ที่ใช้พลังความคิด และไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของวิสาหกิจชุมชน จนสามารถขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นซึ่งถือเป็นการสร้างวิสาหกิจชุมชนให้อยู่ได้แบบยั่งยืน 

สำหรับ 9 วิสาหกิจชุมชนประกอบด้วยวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่(มาบตาพุด),วิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง ชนันทน์วัชเครื่องหนัง(บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนชากลูกหญ้าพัฒนา (ห้วยโป่ง), วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสุขใจ (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนครัวแม่ฉัน By Nana (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนดินฟาร์มเกษตร(บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อบาร์มันบ้านแซมไฮซ์(บ้านฉาง) และ วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้สวนคุณย่าชุมชนหนองแฟบ (มาบตาพุด)

 

นายมงคล กล่้าวอีกว่า แนวทางการพัฒนานั้น ได้นำหลักธรรมศาสตร์โมเดลมาดำเนินการ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ให้มีขีดความสามารถในการบริการในเชิงการค้า เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน มีขบวนการพัฒนาองค์ความรู้ การบริหารจัดการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์

 

ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ เพิ่มทักษะเรื่องช่องทางการขายสินค้าผ่านออนไลน์ให้กับผู้สูงวัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชนสู่มาตรฐานสากล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและพัฒนาระหว่างชุมชน และคณาจารย์ นักศึกษาโครงการบูรณาการปริญญาตรี - โท หลักสูตร 5 ปีของ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ทำหน้าที่ลงพื้นที่ปฎิบัติภารกิจ ในการให้คำแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนเป้าหมาย ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใต้กรอบความร่วมมือระยะเวลา 1 ปี  

 

สมาคมเพื่อนชุมชนขยายผลธรรมศาสตร์โมเดลฟื้นเศรษฐกิจฐานราก  

ตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจ ของวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ของชุมชนแม่บ้านประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่  ผ่านการบอกเล่า ของคุณนิตยา ไทยวงษ์ ประธานวิสาหกิจ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ว่า กลุ่มวิสาหกิจ มีสมาชิก 12 คน ถือเป็นเจ้าแรกที่ทำข้าวเกรียบหอยแมลงภู่ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  ด้วยการนำเอาหอยแมลงภู่ที่ตกไซส์ มาบดแปรรูปทำข้าวเกรียบ   ที่มีจุดเด่นคือกลิ่นหอมอ่อนๆ ชวนรับประทาน 

 

ซึ่งที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์เป็นในรูปแบบซองพลาสติกสีขาว แต่มักประสบปัญหาถุงแฟบ ดูไม่น่าสนใจ ในตัวผลิตภัณฑ์ จนได้รับคำแนะนำจากโครงการ ให้ใช้ถุงกระดาษ มีฟอยล์อยู่ด้านใน ทำให้สามารถเก็บข้าวเกรียบคงคุณภาพได้นานขึ้น ซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่ ที่เป็นประโยชน์  ซึ่งต้องขอบคุณเพื่อนชุมชนที่เข้ามาดูแลมีโครงการ และอบรมครอสต่างๆ  เช่น การอบรมการถ่ายรูป การโพสต์ขายของ ที่คนอายุ 40 ขึ้นไปอาจไม่ถนัดก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ทำให้เพจของเราน่าสนใจขึ้น สามารถสร้างจุดขายที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ชุมชนมุมดินฟาร์มเกษตร โดยพเยาว์ จิตต์ผูก ประธานวิสาหกิจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ปุ๋ยมูลไส้เดือน ได้สะท้อนความสำเร็จ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนเข้าโครงการ จากที่เป็นครูอนุบาล แต่ลาออกมาดูแลแม่ จึงได้เริ่มรวมกลุ่มในชุมชนทำปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยที่ไม่รู้เลยว่าที่ผ่านมาขาดทุนมาโดยตลอด เพราะเราทำบัญชีกันไม่เป็น จนกระทั่งสมาคมเพื่อนชุมชน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาดูแล ตั้งแต่เรื่องการหาแหล่งวัตถุดิบในการทำปุ๋ย การปรับเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้ง ด้วยการออกแบบสติ๊กเกอร์ที่สวยสะดุดตากว่าเดิม พร้อมทั้งช่วยหาตลาดเพิ่มให้ สอนการทำบัญชีที่ถูกต้อง จนปัจจุบันมีกำลังการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนอยู่ที่เดือนละ 200 กว่ากิโลกรัม  ทำให้เรามีโอกาส สามารถต่อยอดจากปุ๋ยมูลไส้เดือน มาเพาะผักต้นอ่อนโดยปุ๋ยมูลไส้เดือนของชุมชน  เป็นการสร้างรายได้ และเศรษฐกิจชุมชนได้เพิ่มขึ้น

 

ส่วนอีกชุมชนที่เป็นชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน โดยคุณประไพ ใจตั้ง ประธาน วิสาหกิจ ฐานเรียนรู้สวนคุณย่า ชุมชนหนองแฟบ  กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของเรามีหลากหลาย เช่น  ชาใบหม่อน น้ำมัลเบอร์รี่สกัดเย็น น้ำสมุนไพร น้ำมะนาว ไผ่บงหวาน เป็นต้น ที่ผ่านมาเราทำกันแบบบ้านๆ  ผลิตภัณฑ์หลายตัวก็ทำกันได้ไม่กี่คน 

 

แต่ภายหลังผ่านการอบรม ทำให้ปัจจุบันสมาชิกทุกคนสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้  พร้อมทั้งยังมีองค์ความรู้เพิ่มเติมต่อยอดจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ หลังการสกัดน้ำขายผลหม่อนสดกับน้ำ จะเห็นว่ากากหม่อนที่เหลือสามารถนำไปทำแยมได้อีก หรือการดูแลเพิ่มผลผลิต ลูกหม่อนโดยเด็ดใบ เพื่อให้ออกผลเพิ่มทางกลุ่มได้นำใบไปทำผลิตภัณฑ์ชา ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 

 

รวมถึงการปรับปรุงแพคเก็จจิ้ง เพื่อให้น่าสนใจมากขึ้นตามยุคสมัยเทรนด์ใหม่ ๆ และได้ขยายช่องการตลาดมากกว่าจากที่ขายเพียงหน้าบ้าน มีการออกบูท เกิดตลาดใหม่เพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม

 

ความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นของวิสาหกิจชุมชนรอบ มาบตาพุดคอมเพล็ก โดยมีสมาชิกสมาคมเพื่อนชุมชน ได้ร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ จากสถาบันการศึกษา  หน่วยงานภาครัฐ  และภาคอุตสาหกรรม ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการยกระดับมาตรฐานสินค้าของชุมชนด้วยสร้างสรรค์นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ จนสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากอาชีพหลักให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง 

 

สอดรับกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจ BCG โมเดล ผ่านความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ชุมชนสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ของจ.ระยอง  ที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน