ส.เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์ ดัน 9 วิสาหกิจสร้างมูลค่าผ่านไอเดียคนรุ่นใหม่

16 มิ.ย. 2565 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 23:49 น.

ส.เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์ ดัน 9 วิสาหกิจสร้างมูลค่าผ่านไอเดียคนรุ่นใหม่ เพิ่มช่องทางตลาดตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับ  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ต้นแบบในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 7/2565  ใน 9 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 

 

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด ให้สามารถขยายตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงการค้าสู่มาตรฐานสากล

 

สำหรับความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้  เป็นความก้าวหน้าของการขยายผลเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ 

โดยนำหลักธรรมศาสตร์โมเดลมาดำเนินการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ให้มีขีดความสามารถในการบริการในเชิงการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและพัฒนาระหว่างชุมชน และคณาจารย์ นักศึกษาโครงการบูรณาการปริญญาตรี - โท หลักสูตร 5 ปีของ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ทำหน้าที่ลงพื้นที่ปฎิบัติภารกิจ ในการให้คำแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับ 9 ชุมชนเป้าหมาย ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใต้กรอบความร่วมมือระยะเวลา 1 ปี   

 

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ 9 กลุ่มเพื่อพัฒนาสินค้าอุปโภคและบริโภค ประกอบด้วย  วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่ (มาบตาพุด), วิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง  ชนันทน์วัชเครื่องหนัง (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนชากลูกหญ้าพัฒนา (ห้วยโป่ง)

 

ส.เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์ ดัน 9 วิสาหกิจสร้างมูลค่า บริการผ่านไอเดียคนรุ่นใหม่

 

,วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสุขใจ (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนครัวแม่ฉัน By Nana (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนมุนดินฟาร์มเกษตร (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อบาร์มันบ้านแซมไฮซ์ (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้สวนคุณย่าชุมชนหนองแฟบ (มาบตาพุด) 

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาวิสหากิจชุมชนที่ผ่านมา สามารถสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาทั้งด้านการตลาด การบริการ ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

จากความร่วมมือดังกล่าว เป็นแผนขับเคลื่อนต่อเนื่องของสมาคมฯ จากแผนงานด้านสังคมและเศรษฐกิจ หรือ Social Economy เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จากการมีส่วนร่วมของ 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน  ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  

 

โดยชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพ ทั้งในรูปของสินค้าและบริการ โดยมีขบวนการพัฒนาความรู้ ในการบริหารจัดการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ แพกเกจจิ้ง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ยังได้เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันเป็นบริษัทพี่เลี้ยง ให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม โดยทำงานร่วมกับนักศึกษา ในการยกระดับศักยภาพ ทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า

 

และการบริการ สร้างรายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้กับจังหวัดระยองต่อไป