“คมนาคม” สั่ง “ทช.” ศึกษาโมเดลต่างประเทศสร้างถนน-สะพาน ขึ้นแท่นฮับอาเซียน

10 ต.ค. 2565 | 16:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 23:22 น.

“คมนาคม” มอบนโยบาย ทช. สั่งศึกษาโมเดลต่างประเทศ ดันเทคโนโลยีสร้างถนน-สะพาน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียนในปี 80 แนะใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง จ่อชงครม.เคาะยกเว้นระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง แก้ปัญหาเบิกจ่ายงบซ่อมทางอุทกภัยล่าช้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในปีนี้ พบว่าเบิกจ่ายได้สูงกว่า 91% โดยตนได้มอบนโยบายให้ ทช. ผลักดันโครงข่ายถนน โครงการที่จะทำตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไร สนับสนุนกับโครงการทางหลวง ระบบรถไฟ รวมไปถึงท่าเรือสำคัญ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงภาคขนส่งได้ทุกมิติ

 

 

 

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ ทช. ศึกษาดูงานจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ โดยให้ดูความสำเร็จในอาเซียน และสิงคโปร์ที่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่โครงการรถไฟที่ลาว ตอนนี้กำลังทลายสิ่งที่เป็นข้อจำกัดทางโอกาส จากการพัฒนาพื้นที่ไข่แดงบนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีอาณาเขตเชื่อมทะเล เป็นเสมือน Land Lock แต่วันนี้ลาวใช้โลจิสติกส์เป็นกำลังสำคัญทำให้ประเทศเป็น Land Link อีกทั้งยังพัฒนาโครงการได้สำเร็จตามแผน ใช้เทคโนโลยีกับการวางแผนก่อสร้าง เช่น ขุดเจาะอุโมงค์ทางลอดต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ทช.สามารถหยิบยกมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการต่างๆ ได้

 

“คมนาคม” สั่ง “ทช.” ศึกษาโมเดลต่างประเทศสร้างถนน-สะพาน ขึ้นแท่นฮับอาเซียน

 

"นโยบายที่ให้กับ ทช. ขอให้เน้นใช้เทคโนโลยีในการคิดวิเคราะห์การก่อสร้าง ไม่ใช่เพียงการใช้วิธีก่อสร้างถนนทางราบเรียบเลาะภูเขา การไต่เขาไปก็ทำให้ใช้งบประมาณสูง และใช้เวลามาก ควรคิดถึงการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วย อย่างโครงการสะพานเกาะลันตา ก็มีข้อกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ขอให้ ทช.มองแนวทางแก้ปัญหาให้ชัดเจน เคลียร์ปัญหาตอบโจทย์ประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเราไปสร้างการพัฒนาไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดก็เพื่อเป้าหมายเรามีจุดมุ่งหมายให้ไทยเป็นฮับอาเซียนสำเร็จในปี 2580"

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การมอบนโยบายในครั้งนี้ ทาง ทช.ยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาซ่อมทางจากอุทกภัย ที่พบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณต้องใช้เวลาตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องรอใช้ทาง เพราะระเบียบจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้เวลาเป็นปี บางครั้งยังรอจัดสรรงบประมาณก็กลับเจอปัญหาอุทกภัยอีกครั้งซ้ำแล้วไปมา โดยหลังจากนี้ตนได้มอบหมาย ทช. ประเมินการใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ในการขอรับจัดสรรงบประมาณ เหมือนที่กระทรวงมหาดไทยใช้กับผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เพราะวิธีการขอรับจัดสรรงบแบบนี้จะทำให้ได้รับงบทันต่อการซ่อมทาง ซึ่งประเมินแล้วว่าจะย่นระยะเวลาจากการจัดซื้อจัดจ้างได้ 2-3 เดือน

 

 

 

"เรื่องการขอใช้ระเบียบจัดสรรงบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลัง คือเรื่องนี้เราจะต้องเสนอ ครม.เพื่อขอยกเว้นการใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเสนอให้ทันซ่อมแซมอุทกภัยรอบนี้ แต่ก่อนหน้านี้ได้งบประมาณมากว่า 1 พันล้านบาท ส่วนการขอรับจัดสรรงบซ่อมทางในรอบนี้จะเท่าไหร่นั้น ต้องรอประเมินความเสียหายจากอุทกภัยผ่านพ้นไปก่อน"
 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย พบว่าปัจจุบันประสบอุทกภัย 32 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, กำแพงเพชร, ตาก, นครสวรรค์, พิจิตร, อุทัยธานี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, นครนายก, ปราจีนบุรี, หนองบัวลำภู, กาฬสินธุ์ และเชียงราย ได้รับผลกระทบ 172 สายทาง ในจำนวนนี้พบว่า สัญจรผ่านได้ 73 สายทาง และสัญจรผ่านไม่ได้ 99 สายทาง

 

 

 

ทั้งนี้การช่วยเหลือภายหลังสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากตรวจพบสายทางที่เกิดความเสียหายรุนแรง ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน และเข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบประมาณมูลค่าความเสียหาย พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป