เวนคืนตัดถนน เลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา 3.6 หมื่นล้าน บูมอีอีซี

22 ส.ค. 2565 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2565 | 16:23 น.
4.7 k

“ทล.” กางแผนสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท เตรียมออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ลุยเวนคืน 2.4 พันไร่ เล็งขอตั้งงบปี 68-74 จ่ายชดเชย-ก่อสร้าง แก้ปัญหารถติด เชื่อมพื้นที่อีอีซีในอนาคต

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงข่ายเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อกระจายความเจริญและระบายปริมาณรถไม่ให้กระจุกตัวในเขตเมือง

 

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทางรวม 50.835 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 36,900 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง วงเงิน 26,900 ล้านบาท และค่าเวนคืน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน หลังจากนั้นกรมฯจะขอตั้งงบประมาณระหว่างปี 2568-2574 โดยแบ่งแผนงานก่อสร้างโครงการฯเป็น 3 ตอน ดังนี้ 1. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ ระยะทาง 15.880 กิโลเมตร (กม.) (กม.20+ 150-กม.36+030) ค่าก่อสร้าง วงเงิน 11,500 ล้านบาท ค่าเวนคืน 3,500 ล้านบาท โดยจะเสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2568 2. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านตะวันตก ระยะทาง 14.805 กิโลเมตร (กม.) (กม.36+030 - กม.50+835) ค่าก่อสร้าง วงเงิน 7,100 ล้านบาท ค่าเวนคืน วงเงิน 3,200 ล้านบาท โดยจะเสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2571 และ 3. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือ ระยะทาง 20.150 กิโลเมตร (กม.) (กม.0+000 - กม.20+150) ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,300 ล้านบาท ค่าเวนคืน วงเงิน 3,300 ล้านบาท โดยจะเสนอขอตั้งงบประมาณในปี 2574 ทั้งนี้หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ

 

 

 

ด้านงานจัดกรรมสิทธิ์ของโครงการฯ ประกอบด้วยการเวนคืนที่ดินประมาณ 1,263 แปลง พื้นที่ประมาณ 2,406 ไร่ ดังนี้ 1. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ - เวนคืนที่ดินประมาณ 524 แปลง พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ 2. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านตะวันตก - เวนคืนที่ดินประมาณ 339 แปลง พื้นที่ประมาณ 660 ไร่ 3. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือ - เวนคืนที่ดินประมาณ 400 แปลง พื้นที่ประมาณ 846 ไร่

 

 

 

ที่ผ่านมากรมฯได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผล กระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา เสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2560 รวมทั้งได้สำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเสร็จ โดยในปี 2562 กรมฯได้สำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านใต้) ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 แล้วเสร็จ ส่วนใน ปี 2563 ได้สำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านเหนือ) แล้วเสร็จ

รายงานข่าวจากทล.กล่าวต่อว่าโครงการฯนี้ไม่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากโครงการฯไม่ได้ผ่านพื้นที่อ่อนไหวและไม่ได้ผ่านโบราณสถานในระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) ทำให้โครงการฯไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการ

 

 

“สาเหตุที่กรมฯเลือกศึกษาเส้นทางของโครงการฯ เพราะปัญหาจราจรในพื้นที่เขตเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งมีทั้งพื้นที่ในเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่อยู่รอบๆ เขตเมือง ทำให้เกิดปัญหาจราจรแออัด โดยการก่อสร้างทางเลี่ยงหรือวงแหวนจะเป็นแนวเส้นทางที่สามารถแยกประเภทรถที่ใช้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งผ่านเขตเมือง แต่จะใช้เส้นทางเลี่ยงเมืองแทน ส่งผลให้การจราจรติดขัดลดลง ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ”

 

 

ส่วนรูปแบบการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา เป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนรอบเมืองฉะเชิงเทรามีความสมบูรณ์ ประกอบด้วย งานก่อสร้างถนน 6 ช่องจราจร พร้อมปรับปรุงบริเวณจุดตัดให้เป็นทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟสายลาดกระบัง - ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง สะพานข้ามแม่นํ้าบางปะกง 2 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางผ่านเมืองฉะเชิงเทรา โดยไม่เลี่ยงการผ่านตัวเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและลดระยะเวลาในการเดินทาง เนื่องจากโครงการมีมูลค่าการลงทุนที่สูง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและแบ่งการจัดสรรงบประมาณลงทุนให้มีความเหมาะสมกับกรอบงบประมาณที่ได้รับสามารถพัฒนาเส้นทางให้สอดคล้องกับกรอบเวลาของนโยบายและการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจราจรในโครงข่ายและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ตะวันออกรองรับ EEC

ทั้งนี้แนวเส้นทางโครงการฯจะผ่าน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา-อำเภอคลองเขื่อน-อำเภอบางคล้า-อำเภอบ้านโพธิ์ ดังนี้ 1. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านเหนือ) เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 304 (กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (กม.82+200) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า 2. ทางเลี่ยง เมืองฉะเชิงเทรา (ด้านใต้) ส่วนที่ 1 เริ่มต้นจากทางหลวงหมาย เลข 304 (กม.82+200) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมาย เลข 314 (14+800) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า และตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ 3. ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านใต้) ส่วนที่ 2 เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 314 (กม.14+800) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ และตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

 

เวนคืนตัดถนน เลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา 3.6 หมื่นล้าน บูมอีอีซี

 

สำหรับโครงการฯมีจุดตัดกับโครงข่ายทางหลวงในบริเวณต่างๆ ได้พิจารณาออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับและสะพานข้ามแยก จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. ทางแยกต่างระดับวังตะเคียน จุดตัด
ทล.304 2. ทางแยกต่างระดับท่าไข่ จุดตัดทล.365 3. ทางแยกต่างระดับบางขวัญ จุดตัดทล.3200 และทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ 4. ทางแยกต่างระดับเสม็ด ใต้ จุดตัดทล.304 5. ทางแยกต่างระดับหนองบัว จุดตัดทล.315 และทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ 6. ทางแยกต่างระดับประเวศ 1 จุดตัด ทล.314 และ ฉช.2004 7. ทางแยกต่างระดับประเวศ 2 จุดตัดฉช.2004 8. ทางแยกต่างระดับบางเตยจุดตัด ฉช.2004

 

 

นอกจากนี้โครงการฯมีสะพานข้ามทางรถไฟและแม่นํ้า ประกอบด้วย 1. สะพานข้ามทางรถไฟสายลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง 2. สะพานข้ามข้ามแม่นํ้าบางปะกง ด้านใต้และด้านเหนือ จำนวน 2 แห่ง